เรือนกาแล (พญาวงศ์)

 

เรือนพญาวงศ์เป็นเรือนที่มีลักษณะเป็นเรือนแฝด ประกอบด้วยเรือนสองหลังชายคาชนกัน จุดเชื่อมต่อของชายคามีฮางลิน (รางระบายน้ำ) ใต้ฮางลินมีฮ่อมลิน (ชานเดินระหว่างเรือนสองหลัง) เชื่อมต่อ ชานด้านหน้าและหลังเรือน เรือนแฝดทั้งสองถูกจัดเป็นเรือนนอนเนื่องจากเป็นครอบครัวใหญ่ เรือนหลังเล็กบริเวณชานด้านหลังสร้างเพิ่มเป็นเรือนครัว ไม่มีส้วมบนเรือน พื้นที่หน้าเรือนใต้ชายคาเรียกว่าเติ๋น (ชานร่มยกระดับ) เป็นพื้นที่ทำงานพักผ่อน และเป็นที่นอนของลูกชายเจ้าของเรือนเมื่อเริ่มโตเป็นหนุ่ม ผนังเรือนที่เลยมาจากห้องนอนมาที่เติ๋นเพื่อสร้างความเป็นส่วนตัวเวลาที่ลูกสาวเจ้าของเรือนนั่งทำงานเรียกว่าฝาลับนาง ใต้หลังคาเรือนกาแลสูงโล่งเนื่องจากไม่มีเทิง (ฝ้าเพดาน) ทำให้การระบายอากาศร้อนออกไปจากพื้นพี่ใช้งานบนเรือนได้ดี นิยมทำควั่น (โครงสร้างไม้หรือไม้ไผ่สาน) สำหรับการเก็บของ เช่น น้ำต้น ที่ตรงระดับเทิงเหนือเสาเรือน มีขัวอย้าน (ไม้สะพานสำหรับขึ้นไปเหยียบซ่อมแซมหลังคา) เป็นไม้เนื้อแข็งหรือลำไม้ไผ่คู่ประกบเสาดั้ง ช่วยยึดโครงหลังคาส่วนหนึ่ง ส่วนใต้หลังคาระหว่างบริเวณเติ๋นและห้องนอนประตูเข้าห้องนอน ประตูห้องนอนมีแซ่ว (ดานหรือกลอน) อยู่ด้านใน กรอบประตูห้องนอนด้านบนมีส่วนตกแต่งและเป็นเครื่องรางประจำเรือนเรียกว่าหำยนต์ ส่วนกรอบประตูบนพื้นด้านล่างมีไม้กั้นให้ก้าวข้ามเรียกว่าข่มตู๋ (ธรณีประตู)

โครงสร้างพื้นแนวกลางของเรือนเป็นแนวไม้แป้นต้อง ซึ่งเป็นไม้แผ่นขนาดกว้างพอสะดวกเดิน หนาเท่าตง วางพาดบนหัวเสาป๊อก (เสาสั้น เสริมใต้คานบริเวณกลางแนวคานที่รองรับพื้นเรือน) ยาวจากประตูห้องนอนไปถึงเชิงผนังห้องอีกด้าน ทำไว้เพื่อใช้เดินไม่ให้เกิดเสียงดังรบกวนผู้อื่นเวลานอน เพราะโครงสร้างพื้นส่วนนี้แยกส่วนการถ่ายน้ำหนักออกจากพื้นเรือน บันไดทางขึ้นพาดต่อกับชานแดดหน้าเรือนขนาดใหญ่เพื่อรองรับการใช้งานเวลารับรองแขกและประชุมลูกบ้าน

โครงสร้างเรือนพญาวงศ์เป็นระบบเสาและคาน สร้างด้วยไม้สัก เสาเรือนถากเป็นแปดเหลี่ยม เรือนหนึ่งหลังประกอบด้วยเสาหกคู่ ไม่รวมเสาป๊อก และมีเสาที่ชานหน้าเรือนอีกหกคู่ ไม่รวมเสาป๊อกเช่นกัน เสารับพื้นจะเจาะช่องให้แวง (รอด) สอดแล้วพาดตงก่อนปูพื้นไม้แผ่น ตรงแนวหน้าแหนบ (หน้าจั่ว) ของเรือนทั้งด้านหน้าและด้านหลังมีเสาตั้งที่สูงขึ้นไปรับแป๋จ๋อง (อกไก่) ส่วนบริเวณหัวเสาที่ไม่มีหน้าแหนบมีตั่งโย (จันทันตรงแนวจั่ว) รับน้ำหนักของกระเบื้องมุงหลังคา ไม้ก้านฝ้า (ระแนง) ก๋อน (กลอน) และคาบ (แปลาน) ที่ถ่ายน้ำหนักตามลำดับมาลงที่หัวเสา ผืนหลังคาเรือนลาดชันประมาณ ๔๕ องศา เพื่อการระบายน้ำฝนที่ดี ชายคาตรงแนวเสามียางค้ำ (ค้ำยัน) เป็นโครงสร้างรับน้ำหนักจากชายคาลงสู่เสา บริเวณตีนแหนบ (ฐานหน้าจั่ว) มีแง็บ (ไขราปีกนก) ทั้งด้านหน้าเรือนและหลังเรือนช่วยทำให้การกันแดดฝนครอบคลุมได้มาก ฝาแหนบนิยมประกอบขึ้นด้วยรูปแบบฝาตาผ้า (การเข้าไม้แบบฝาประกน) ฝาเรือนด้านสกัดมีระนาบตั้งตรง ส่วนฝาเรือนด้านข้างเป็นฝาตาก (ผายออก) เพื่อเพิ่มพื้นที่ใช้สอย เช่นทำชั้นวางของ ทำให้พื้นที่ภายในเรือนโล่ง ช่วยลดขนาดพื้นผนังและโครงสร้างผนังและช่วยค้ำจุนโครงสร้างชายหลังคาได้อีกส่วนหนึ่ง ฝาผนังนิยม ฝาแป้นหลั่น (ตีไม้แผ่นตามแนวตั้ง มีระแนงไม้ตีปิดยาว ตลอดแนวต่อระหว่างแผ่นเหมือนเช่นรูปแบบฝาสายบัวของเรือนภาคกลาง เอกลักษณ์ของเรือนที่โดดเด่นคือ “กาแล” ตรงส่วนยอดของปั้นลมที่ไขว้กัน เป็นทรงตรงหรือโค้ง มีการแกะสลักอย่างงดงามเป็นลายกนก รูปทรงหลังคาเรือนมีความเป็นปริมาตรสูง การยกพื้นเรือนสูงช่วยทำให้เรือนดูโปร่งเบาลอยตัวมีสัดส่วนที่สวยงาม เทคนิคการประกอบเรือนที่เรียบร้อยลงตัวทำให้เกิดความงามที่สัมพันธ์กันของปริมาตรระนาบและพื้นที่ว่างทั้งภายในภายนอก

จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ “พญาวงศ์” ผู้เป็นเจ้าของเรือนนี้ เป็นนายแคว่น (กำนัน) อยู่ที่บ้านสบทา แขวงปากบ่อง อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน เฮือนพญาวงศ์เป็นเรือนไม้สักขนาดใหญ่ที่ใช้การเข้าลิ่มตอกสลักอย่างดีแทบไม่ปรากฏรอยตะปู เป็นเรือนที่ปลูกสร้างเมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๔๐ โดยลูกเขยของพญาวงศ์ ชื่อว่า “พญาอุด” ซึ่งท่านเป็นนายแคว่นบ้านริมปิง เมื่อไม่มีลูกหลานผู้ใดอยู่อาศัยในบ้านหลังนี้ ท่านพระครูเวฬุวันพิทักษ์ (เขื่อนคำ อตตสนโต) เจ้าอาวาสพระพุทธบาทตากผ้า เจ้าคณะ อำเภอป่าซาง ได้ไปพบเรือนหลังนี้ จึงถามซื้อและได้รื้อมาปลูกสร้างไว้ที่วัดสุวรรณวิหาร บ้านแม่อาว ตำบลนครเจดีย์ อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน ซึ่งท่านเป็นเจ้าอาวาสที่วัดนี้ด้วย หลังจากนั้นนายแฮรี่ วอง ชาวสิงคโปร์ ได้ซื้อไว้และภายหลังเสียชีวิตลง มูลนิธิ ดร.วินิจ - คุณหญิงพรรณี วินิจนัยภาค ได้มอบเรือนหลังนี้และให้การสนับสนุนการรื้อถอนและย้ายมาปลูกตั้ง ณ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในปี พ.ศ.๒๕๔๑

 
รูปภาพ
เรือนกาแล (พญาวงศ์)
เรือนกาแล (พญาวงศ์)
เรือนกาแล (พญาวงศ์)
เรือนกาแล (พญาวงศ์)
เรือนกาแล (พญาวงศ์)
เรือนกาแล (พญาวงศ์)
เรือนกาแล (พญาวงศ์)
เรือนกาแล (พญาวงศ์)
เรือนกาแล (พญาวงศ์)
เรือนกาแล (พญาวงศ์)
เรือนกาแล (พญาวงศ์)
เรือนกาแล (พญาวงศ์)
เรือนกาแล (พญาวงศ์)
เรือนกาแล (พญาวงศ์)
เรือนกาแล (พญาวงศ์)
เรือนกาแล (พญาวงศ์)
เรือนกาแล (พญาวงศ์)
เรือนกาแล (พญาวงศ์)
 

แบบสถาปัตยกรรม

 

ดาวน์โหลดไฟล์ PDF

 
 
เผยแพร่เมื่อ 16 ตุลาคม 2562 • การดู 32,951 ครั้ง