3 ธันวาคม 2562
3k
Share on
 

อาหารการกินของชาวล้านนา

 

ชาวล้านนาในอดีตดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่าย  มีลักษณะเป็นสังคมเกษตรกรรมที่พึ่งพาอาศัยกันระหว่างคนในชุมชน   กลุ่มละแวกบ้านเรือนเดียวกันจะแสดงออกซึ่งมิตรไมตรีจิตที่ดี  ด้วยการช่วยเหลือเพื่อนบ้านในยามยาก  การแบ่งปันอาหารให้กันและกัน  รวมถึงการร่วมมือลงแรงทำงานต่างๆ ด้วยกัน  ซึ่งจะเห็นว่าคนล้านนามักใช้คำว่า  “ฮอม”  กับการช่วยเหลือคนในชุมชน  มีทั้งการ ฮอมแรง  ฮอมเงิน  ฮอมของ  ดังเช่นในงานบุญพิธี  เพื่อนบ้านต่างก็นำเนื้อสัตว์  ผัก  และวัตถุดิบในการทำอาหารมาฮอมเจ้าภาพ  คนที่มาร่วมงานได้ก็จะช่วยกันจัดข้าวของเครื่องใช้ในพิธี  เตรียมสถานที่  เตรียมอาหารเลี้ยงคนภายในงาน  บางครั้งหากใครที่ไม่สามารถมาได้ก็จะฮอมด้วยเงินแทน  เป็นต้น

            ลักษณะนิสัยของชาวล้านนาเป็นผู้มีอัธยาศัยดีเป็นกันเอง  หากมีแขกมาเยี่ยมบ้านเรือนก็จะให้การต้อนรับเป็นอย่างดี  ด้วยเครื่องดื่มและอาหารที่จัดเตรียมเป็นพิเศษ  บางครั้งอาจมีของฝากติดไม้ติดมือแขกผู้มาเยือนไปด้วย   อาหารของชาวล้านนาจะรับประทานข้าวเหนียวเป็นหลัก  กินกับอาหารพื้นถิ่นที่มีกรรมวิธีการปรุงหลากหลายประเภท  อาทิ  นึ่ง  แกง  ส้า  ลาบ อ่อม  แต่ละประเภทต่างก็ใช้วัตถุดิบและเครื่องปรุงที่หาได้ในท้องถิ่น  ซึ่งภายในบริเวณบ้านก็จะปลูกพืชผักสวนครัว  เลี้ยงสัตว์ประเภทหมู  เป็ด  ไก่  และหาอาหารตามธรรมชาติ  เช่น  ปลาตามหนองบึง  หน่อไม้  เห็ด  สัตว์ในป่า  เป็นต้น  หากต้องการแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้าชนิดอื่นๆ ก็ต้องไปกาดลี  คือตลาด  สถานที่นัดพบของคน  เพื่อเลือกซื้อสินค้าท้องถิ่นและสินค้าที่จำเป็น  อีกทั้งยังเป็นแหล่งกระจายข่าวสารต่างๆ จากสังคมภายนอกสู่สังคมในท้องถิ่น  ลักษณะของกาดมีทั้งขนาดใหญ่และเล็กตามขนาดของเมือง  โดยแต่ละเมืองจะมีตลาดใหญ่ประจำเมือง  คือกาดหลวง  และกาดเล็กๆ อยู่ตามหมู่บ้าน  เช่น  กาดก้อม  กาดนัด  เป็นต้น  ส่วนการค้าขายระหว่างเมืองจะใช้เส้นทางเดินเท้า  เดินทางเป็นคาระวานม้าต่างวัวต่าง  โดยเชื่อมเมืองสำคัญต่างๆ ไว้ด้วยกัน เช่น  เส้นทางค้าจากเชียงรุ่งสิบสองปันนา  มายังเมืองเชียงตุง  เมื่อเข้าสู่เชียงรายแล้วก็ตรงมายังเชียงใหม่   ตลอดเส้นทางก็จะซื้อของตามเมืองต่างๆ  ไปขายตามรายทาง  โดยเฉพาะชา  ผ้าไหม  ที่เป็นสินค้าจากจีน  จะมาขายยังเชียงตุง  และล้านนา  เป็นต้น

แหล่งอาหาร

ในอดีตคนล้านนาจะหาอาหารอย่างง่ายๆ โดยการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ในบริเวณพื้นที่ของตนเอง  หากต้องการอาหารที่พิเศษจากเดิมก็จะเก็บของป่า ลักษณะป่าทางภาคเหนือเป็นป่าโปร่ง  เรียกว่า  “ป่าแพะ”    เป็นป่าชุมชนที่มีพันธุ์ไม้จำพวกต้นสัก  ต้นเหียง  ไม้ไผ่และไม้พุ่มอื่นๆ ขึ้นอยู่สลับกันบนดินร่วนที่มีส่วนผสมของก้อนหินขนาดเล็ก  ในแต่ละฤดูป่าแพะก็จะผลิตอาหารที่แตกต่างกันออกไปตามแต่ละสายพันธุ์ของพืชและสัตว์  ฤดูร้อนมีไข่มดแดง  ผักหวาน  ฤดูฝนมีเห็ด  แมลงต่างๆ  ทั้งนี้ผลิตผลจากป่าแพะ  ยังให้ไม้สักและไม้ไผ่ที่เป็นวัตถุดิบอย่างดีในการสร้างบ้านเรือนอีกด้วย  จึงเป็นการแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสิ่งแวดล้อม  ที่คนต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับถิ่นที่อยู่อาศัย