8 มีนาคม 2565
3k
Share on
 

ลาบ

 

ลาบ สุรา นารี

             ลาบ โดยเฉพาะ “ลาบชิ้น” เป็นอาหารที่ทำจากเนื้อสดคลุกเคล้ากับเลือดๆ  เป็นของดิบแดง หลายคนถึงกับกล่าวว่าเป็นมังสาหารของยักษ์  ยักษ์ตัวใหญ่ มีเขี้ยว ดุร้ายใจกล้า ทรงไว้ซึ่งมนตราเข้มขลัง มีพลังมหาศาลไม่ครั่นคร้ามต่อผู้ใด ชายที่เป็นชายชาตรีจริงต้องกินของดิบแดงได้ดั่งยักษ์ มีคุณสมบัติคล้ายยักษ์ ถึงจะได้รับการยอมรับของสังคม ชายที่ไม่กินลาบดิบถือเป็นคนไม่กล้า หน้าตัวเมีย หนักเข้าถึงกับไล่ให้ไปเอาผ้าซิ่นมานุ่ง และไม่ยอมให้สุงสิงเข้ากลุ่มกับผู้ชาย

            ในคุณสมบัติของยักษ์อย่างหนึ่งคือมีมนตราเข้มขลัง ลูกผู้ชายก็ควรทรงไว้ซึ่งมนตราเข้มขลังเช่นกัน การทำลาบจึงต้องทำกันหมู่ผู้ชายด้วยกันเท่านั้น ไม่นิยมให้ผู้หญิงเข้าไปมีส่วนร่วม ทั้งนี้มีเหตุผลว่าถ้าให้ผู้หญิงทำลาบอาจเผลออ้าขาตำน้ำพริก หรือคลุกขยำยำลาบ เป็นเหตุให้ลาบนั้นเกิดอาถรรพณ์ทำให้มนต์คาถาเสื่อมคลาย  อีกอย่างหนึ่งเป็นเพราะผู้หญิงมีประจำเดือนซึ่งเลือดประเดือนมีสีแดงสดเหมือนลาบ หากประจำเดือนปนเปื้อนไปกับลาบจะทำให้เสื่อมมนต์ขลังเช่นกัน 

คุณสมบัติของลูกผู้ชายอีกประการหนึ่งคือต้องดื่มเหล้าเป็น การบริโภคลาบมักมีเหล้าอยู่คู่กันเสมอ กล่าวกันว่าวงใดที่กินลาบไม่มีเหล้าถือเป็น “ลาบแม่” คือลาบตัวเมีย ดังนั้นลูกผู้ชายกินลาบต้องดื่มเหล้าได้ด้วย นอกจากนี้ ยังเชื่อกันว่าถ้าดื่มเหล้าในปริมาณที่พอเหมาะก่อนกินข้าวกับลาบดิบจะทำให้ชายนั้นทรงพลังสามารถประกอบกามกิจได้อย่างมีคุณภาพ

 ในเมื่อลาบเป็นเรื่องของผู้ชาย แต่ในครอบครัวไม่ได้มีเฉพาะผู้ชาย การบริโภคลาบจึงมีพื้นที่ที่เป็นสัดส่วนในการบริโภค บรรดาชายที่แข็งแรงมักตั้งวงรับประทานลาบดิบบน “เติน” คือบริเวณโถงรับแขกหรือประกอบพิธีกรรมของตัวเรือน ส่วนคนชรา ผู้หญิงและเด็ก จะตั้งวงแยกออกมา ลาบที่รับประทานมักเป็น

“ลาบขั้ว” (ลาบคั่ว) คือลาบที่นำไปผัดให้สุกแล้ว วงลาบอย่างหลังนี้มักเรียก “ลาบแม่” ไปด้วย เพราะนอกจากไม่มีเหล้าแล้วผู้บริโภคส่วนใหญ่เป็นหญิงและเด็ก

 

ลาบ - ลาภ 

ด้วยเหตุที่คำว่า “ลาบ” มีเสียงพ้องกับคำว่า “ลาภ” เมื่อล่าได้ฟาน(เก้ง)จากป่าซึ่งนานทีมีหนก็ถือเป็นลาภ  จึงนิยมนำมาทำลาบ หากถูกหวยรวยทรัพย์ หรือได้รับประโยชน์มากเป็นกรณีพิเศษ เช่นขายที่ดินได้ หรือประสบผลสำเร็จในชีวิตก็เลี้ยงฉลองด้วยลาบ  ในเทศกาล งานประเพณี โอกาสพิเศษหรืองานเลี้ยงอื่นๆ เช่น สงกรานต์ แต่งงาน ขึ้นบ้านใหม่ ปอยหลวง ปอยน้อย กินสลาก เลี้ยงต้อนรับ เลี้ยงส่ง เลี้ยงแสดงความยินดี เลี้ยงขอบคุณ เป็นต้น ต้องมีลาบเป็นอาหารหลักเพื่อให้เกิดโชคลาภตามชื่อของลาบนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ความเชื่อและค่านิยมที่กล่าวมา ปัจจุบันเจือจางลงไปมาก หญิงชายสามารถทำลาบได้ และบริโภคได้เสมอกัน อีกทั้งยังมีร้านขายลาบ ร้านลาบ และมีจำหน่ายตามตลาดโดยทั่วไป แต่ถึงอย่างไร ลาบก็ยังเป็นลาบซึ่งเป็นอาหารชั้นสูง เป็นอาหารยอดนิยมคู่กับสังคมล้านนามาช้านาน และตลอดไป

บทความผักกับลาบ : ผักกับลาบ

เขียนโดย : สนั่น ธรรมธิ ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปวัฒนธรรมล้านนา