11 มกราคม 2565
3k
Share on
 

เครื่องเขินในวัฒนธรรมล้านนา

 

คำว่า “เครื่องเขิน” หมายถึงภาชนะ เครื่องมือ หรือของใช้ ที่ผลิตขึ้นโดยชาวเชียงใหม่ ที่มีเชื้อสายสืบมาจากชาวไทเขินแต่โบราณ คำนี้น่าจะบัญญัติขึ้นโดยคนไทยภาคกลางหรือข้าราชการจากส่วนกลางที่ขึ้นมาอยู่ในภาคเหนือเมื่อประมาณ 100 ปีที่แล้ว เพราะว่าคำนี้มิได้ปรากฎอยู่ในภาษาพื้นถิ่นของชาวเชียงใหม่ ซึ่งชาวเชียงใหม่แต่เดิมมิได้มีศัพท์เรียกที่จำกัดความเฉพาะเช่นนี้มาก่อน ชาวเชียงใหม่เรียกชื่อภาชนะของใช้ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นงานช่างฝีมือประเภทใด ตามลักษณะการใช้งานมากกว่าการระบุถึงวัสดุหรือเทคนิคการผลิต แม้บางครั้งอาจกล่าวถึงบ้างถ้าวัสดุนั้นเป็นของมีค่า เช่น ขันเงิน(พานทรงสูงตีจากเนื้อเงินบริสุทธ์) หรือ แอ็บหมากคำ (ตลับใส่หมากตกแต่งด้วยโลหะทองคำ) ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่าภาชนะของใช้ในอดีตเป็นจำนวนมาก ผลิตด้วยเทคนิคและวัสดุพื้นถิ่น ซึ่งถือว่าเป็นของธรรมดาๆ ไม่มีอะไรพิเศษ หรือมีราคาค่างวดมากมาย จึงไม่มีการใช้ศัพท์จำเพาะให้ชัดเจน ที่ใกล้เคียงกับการเป็นศัพท์จำเพาะมากที่สุดจะเรียกวลีว่า “คัวฮักคัวหาง” สำหรับสิ่งของที่เรารู้จักในปัจจุบันว่าเป็นเครื่องเขิน
 

เครื่องเขินในชีวิตประจำวันของชาวล้านนา

เครื่องเขิน เป็นของใช้ที่ชาวล้านนานิยมเป็นอย่างยิ่งและยังต่อเนื่องมาจนกระทั่งปัจจุบัน แม้ว่าจะลดบทบาทลงไปบ้างด้วยมีสิ่งอื่นเข้ามาทดแทน แต่ก็ยังมีการผลิตอยู่มากกว่าภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศไทย

          หลังจากที่มีการฟื้นฟูบ้านเมืองในสมัยของเจ้าหลวงกาวิละเขตเมืองเชียงใหม่ บริเวณถนนวัวลาย วัดนันทาราม บ้านช่างหล่อ เป็นชุมชนของชาวไทเขิน ซึ่งเป็นกลุ่มชนที่มีความสามารถทางการช่างหลายแขนงรวมไปถึงการทำเครื่องเขินใช้ในชีวิตประจำวัน และเป็นที่นิยมแพร่หลายในกลุ่มชาวพื้นเมืองของล้านนา เพราะมีคุณภาพดีมีรูปทรงและลวดลายที่สวยงาม

          การผลิตเครื่องเขิน นอกจากในเขตเมืองเชียงใหม่แล้ว ยังมีอยู่ทั่วไปในล้านนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชุมชนสำคัญที่มีสภาพทางเศรษฐกิจและสังคมที่เอื้อต่อการใช้สอยเครื่องเขินและการสร้างสรรค์ ปกติงานเครื่องเขินในพื้นที่ต่างๆ ของล้านนามีรูปทรงโครงสร้าง และลวดลายตกแต่งคล้ายคลึงกัน จะแตกต่างแต่เพียงรายละเอียดปลีกย่อยของวัสดุตกแต่ง

 

ข้อมูลจาก : หนังสือเครื่องเขินในวัฒนธรรมล้านนา วิถี พานิชพันธ์