12 ตุลาคม 2564
3k
Share on
 

ปอยออกหว่า (ปอยเหลินสิบเอ็ด) ออกพรรษาของไทใหญ่

 

ชื่อนี้เป็นภาษาไทใหญ่ ซึ่งหมายถึงการฉลองในเดือน 11 คือวันออกพรรษา เป็นการเฉลิมฉลองด้วยความปรีดาที่พระพุทธเจ้ากลับลงมายังโลก หลังจากที่ไปแสดงธรรมโปรดพุทธมารดาที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ตลอดระยะเวลาเข้าพรรษาซึ่งนานถึง 3 เดือน

          พบว่าที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนมีงานนี้ตั้งแต่ขึ้น 13 ค่ำ เดือน 11 ถึงแรม 15 ค่ำ เดือนเดียวกัน โดยชาวบ้านจะเริ่มการจับจ่ายซื้อของและจัดเตรียมเครื่องไทยทานตั้งแต่ขึ้น 13 ค่ำ เพื่อไปถวายทานในวันขึ้น 15 ค่ำ โดยเฉพาะจะมี เข้าหนมจ็อก คือขนมอย่างขนมเทียน อาหารที่นิยมทำกันก็คือแกงฮังเลและเนื้อลุง (เนื้อสับละเอียดผสมเครื่องแกงทำเป็นก้อนกลมคล้ายลูกชิ้นแล้วนำไปทอด) ขนมนี้นอกจากจะนำไปถวายพระแล้ว ยังแจกกันกินตามหมู่ญาติมิตรและใกล้บ้านเรือนเคียง

          วันที่สนุกสนานที่สุดก็คือตอนเย็นของวันขึ้น 13 ค่ำ จะมีการจัดตลาดนัดซึ่งของส่วนใหญ่คือของที่จะนำไปถวายพระ ตลาดนี้จะดำเนินต่อไปทั้งคืนจนรุ่งเช้าแล้วต่อเนื่องไปถึงเย็นของวันขึ้น 14 ค่ำอีกด้วย นอกจากจัดอาหารและขนมไปวัดแล้ว บางบ้านอาจจะทำประทีปโคมไฟและจองพาราหรือพุทธบัลลังก์อีกด้วย

          ในวันขึ้น 15 ค่ำนั้น ชาวบ้านจะตื่นแต่เช้าแล้วเตรียมต่างซอมต่อ คือถวายข้าวมธุปายาสแก่พระพุทธรูปและแม่ธรณีเจ้าที่แล้วจึงไปวัด เมื่อเสร็จพิธีกรรมแล้ว ผู้เฒ่าบางท่านอาจนอนค้างที่วัดเพื่อบำเพ็ญกุศลกรรมจำศีลภาวนาอีกคืนหนึ่งในเย็นวันขึ้น 15 ค่ำนี้ ชาวบ้านจะจุดเทียนประดับที่จองพาราและจุดเทียนสว่างที่หน้าบ้านหรือตามแนวรั้ว บ้างก็ใช้ไม้สนมัดรวมกันแล้วจุดไฟตั้งไว้ที่หน้าบ้าน ซึ่งการจุดไม้สนนี้จะจุดไม่นานนักก็จะดับไฟ เพื่อใช้จุดในวันต่อๆไปอีก ตั้งแต่คืนวันขึ้น 15 ค่ำเป็นต้นไป พอตกกลางคืนประชาชนนิยมไปจุดธูปเทียนบูชาพระพุทธรูปและเจดีย์ตามวัด จากนั้นจึงจะพากันไปจุดเทียนบูชาผีเจ้าบ้านเจ้าเมือง

          นอกจากจะมีการจุดเทียนบูชาดังกล่าวแล้ว ในบางคืนอาจมีการฟ้อนรูปสัตว์ต่างๆ เช่น ฟ้อนนก ปลา โต ผีเสื้อ หรือสัตว์อื่นๆ เพื่อแสดงการที่พระพุทธเจ้าเสด็จกลับลงมายังโลกนั้น นอกจากมนุษย์และเทวดาแล้ว ส่ำสัตว์ทั้งหลายก็พากันดีใจออกมาฟ้อนรำรับเสด็จด้วย การฟ้อนนี้จะมีไปจนถึงคืนวันแรม 14 ค่ำ

          ในคืนแรม 14 ค่ำนั้นจะมีการแห่ต้นแปกหรือต้นสน อันได้จากการนำไม้สนมาจักแล้วมัดรวมกันทำเป็นต้นไม้ เมื่อแห่ไปถึงวัดแล้วก็จะมีพิธีจุดไฟที่ต้นไม้ดังกล่าวและปล่อยให้ไหม้จนหมด การจุดไฟให้ไหม้หมดนี้ เรียกว่า มอดไฟเทียน ซึ่งถือว่าเสร็จสิ้นปอยเหลินสิบเอ็ด  

          

         ประเพณีแห่จองพารา คือประเพณีบูชาปราสาทพระของคนไตหรือชาวไทยใหญ่ เป็นประเพณีที่มีความสำคัญสำหรับชาวแม่ฮ่องสอน อีกหนึ่งอย่าง ซึ่งประเพณีปอยเหลินสิบเอ็ดจะจัดขึ้นในเดือน 11 ระหว่างขึ้น 13-14 ค่ำ ประชาชนจะซื้ออาหารและสิ่งของต่างๆ สำหรับไปทำบุญที่วัดในวันขึ้น 15 ค่ำ เมื่อถึงรุ่งเช้ามืดของวันขึ้น 15 ค่ำ ซึ่งตรงกับวันออกพรรษา จะมีการตักบาตรเทโวโรห ตอนกลางคืนตามบ้านเรือนและวัดต่างๆ จะมีการจุดประทีปโคมไฟสว่างไสว มีการแห่ “จองพารา” หรือ “ปราสาทรับเสด็จพระพุทธเจ้า” ซึ่งตกแต่งประดับประดาอย่างสวยงาม มีการแสดงการละเล่นพื้นเมืองและมหรสพต่างๆ

          ประเพณีนี้มีพื้นเพจากความเชื่อที่ว่าถ้าได้จัดทำจองพาราหรือปราสาทพระรับเสด็จพระพุทธเจ้าที่บ้านของตนเองแล้วครอบครัวจะอยู่เย็นเป็นสุข ได้บุญกุศลส่งผลไปถึงการประกอบอาชีพ และจะได้รับผลสำเร็จตลอดทั้งปี

          จองพาราจะมีส่วนประกอบโครงที่ทำจากไม้ไผ่ บุด้วยกระดาษสา ตกแต่งด้วยกระดาษสีบุลายศิลปะชาวไต ซึ่งมี 2 กลุ่มลาย คือกลุ่มนอนเคอ (ลานเคลือเถา) ลักษณะลายที่เขียนเป็นเถาติดต่อกัน ประกอบด้วยก้านใบ ดอก และเถาเลื้อย เน้นความสวยงามของเส้นโค้งที่อ่อนช้อย อีกหนึ่งกลุ่ม คือ ลาบใบหมากเก๋ง (ลายสัปะรด) ลักษณะใบหมากเก๋งเป็นรูปลายประดิษฐ์ใบเรียว คล้ายกับรายกนก ลายกะจง ลาบกลีบบัว

          ชาวบ้านจะนำอาหารที่ประกอบด้วย ข้าวสวย ขนม ผลไม้ ใส่ในกระทงใบตองวางไว้บนจองพารา จุดธูปเทียนกล่าวอัญเชิญพระพุทธเจ้าให้มาเสด็จประทับที่จองพาราเพื่อเป็นสิริมงคล และจะตั้งไปจนครบ 7 วัน เมื่อสิ้นสุดการบูชา ก็จะนำจองพาราไปทิ้งหรือเผา บ้างก็เอาไว้นอกชายคาบ้านนอกรั้ว ไม่นิยมเก็บไว้ในบ้าน เมื่อถึงปีถัดไปก็จะทำใหม่อีกครั้ง

          สำหรับชาวไทยใหญ่นั้นประเพณีจองพาราเปรียบเสมือนการทำบุญครั้งใหญ่ เป็นส่วนสำคัญของประเพณีไทใหญ่ทั่จดทำกันในช่วงออกพรรษา โดยที่มีความศรัทธาและความเคารพในพุทธศาสนาเป็นตัวแกนหลัก ในการจัด และในปัจจุบันนี้จองพาราถือเป็นประเพณีที่นักท่องเที่ยววัฒนธรรมให้ความสนใจเป็นอย่างมาก โดยจะเห็นได้จากการจัดประเพณีที่ยิ่งใหญ่ในอำเภอแม่ฮ่องสอนเอง และด้วยความน่าสนใจของประเพณีนี้ในหลายพื้นที่ของจังหวัดแม่ฮ่องสอนจึงได้มีการเริ่มนำจองพารามาเป็นสื่อในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒธรรมเช่นกัน

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ  เล่ม 7

ภาพโดย : นายต่อพงษ์ เสมอใจ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มช.