17 สิงหาคม 2564
3k
Share on
 

เฮือนไทลื้อ หม่อนตุด - พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา มช. (ภาษายอง)

 

การเล่าถึงประวัติความเป็นมาของเรือนไทลื้อ (หม่อนตุด) ภายในพิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา มช. ซึ่งบรรยายโดยเจ้าของภาษายอง ซึ่งอยู่ในชาติพันธุ์ล้านนา 

              เรือนหม่อนตุด เป็นเรือนของชาวไทลื้อ ที่สร้างขึ้นจากการผสมผสานระหว่างรูปแบบเรือนไทลื้อกับเรือนแบบไทยวน  โดยกลุ่มชาวไทลื้อจากมณฑลยูนาน  ตอนใต้ของจีนที่ถูกกวาดต้อนเข้ามาอยู่ในเชียงใหม่ตั้งแต่อดีต  ซึ่งแต่เดิมเรือนหลังนี้เป็นของ นางตุด ใบสุขันธ์ ชาวไทลื้อบ้านเมืองลวง ตำบลลวงเหนือ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่   สร้างเรือนขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2460 โดย พ่อน้อยหลวง สามีหม่อนตุดเป็นผู้สร้างขึ้นเอง เริ่มจากการซื้อเรือนไม้เก่าจากบ้านป่าก้าง อำเภอดอยสะเก็ด แล้วใช้ช้างถึง 3 เชือก พร้อมวัวควายที่พ่อน้อยหลวงมีอยู่ไปชักลากมา นำมาสร้างเป็นเรือนไม้ที่มีรูปทรงเรียบง่ายตามแบบเรือนสามัญชน

            ปลายปี 2534 อาจารย์ศิริชัย นฤมิตรเรขการ ได้ทราบเรื่องการประกาศขายเรือนของหม่อนตุดจาก ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง อาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงตัดสินใจซื้อไว้แล้วมอบให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  เพื่อเก็บรักษาเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาวเชียงใหม่  จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นในการอนุรักษ์เรือนโบราณล้านนาและจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์สำหรับให้คนทั่วไปได้ศึกษา

            เรือนหม่อนตุดเป็นเรือนไม้ขนาดกลางมุงหลังคา “แป็นเกล็ด” ลักษณะเป็น “เรือนสองหลังหน้าเปียง” หมายถึงมีเรือนจั่วสองหลังวางต่อกันในระนาบเดียวกัน    องค์ประกอบของเรือน 2 หลัง คือ ห้องด้านตะวันออกเป็น “เฮือนนอน” โล่งกว้าง สำหรับสมาชิกในครัวเรือนจะนอนรวมกันในห้องนี้ โดยใช้ “ผ้ากั้ง” มีลักษณะเป็นเหมือนผ้าม่าน  ใช้กั้นแบ่งเป็นห้องเล็กๆ ตามช่วงเสา  ส่วนเรือนที่อยู่ทางด้านตะวันตกคือ “เฮือนไฟ” หรือห้องครัว อยู่ระดับเดียวกับพื้นเรือนนอน ตรงกลางระหว่างชายคาของเรือนทั้งสองเชื่อมต่อกันทำเป็นรางน้ำฝน เรียกว่า “ฮ่อมริน”  ด้านข้างเรือนไฟทำเป็นระเบียงยาวเชื่อมกับชานหลังบ้าน  มีบันได 2 ด้าน คือที่ชานหน้าและชานหลังบ้าน

หน้าเรือนทั้งสองเป็นพื้นที่โล่งไม่มีผนังกั้นเรียกว่า “เติ๋น” เป็นที่ทำงานบ้าน เช่น ทอผ้า ปั่นฝ้าย จักสาน และเป็นที่นั่งพักผ่อนในช่วงเวลากลางวัน  ฝาเรือนด้านตะวันออกของเติ๋นมี “หิ้งพระ” ทำเป็นชั้นวางเพื่อสักการะบูชาพระพุทธรูปหรือเก็บรักษาเครื่องรางของขลัง ถัดจากเติ๋นออกมานอกชายคาคือ  “ชาน”  เป็นพื้นที่ลดระดับลงมาแล้วเชื่อมกับบันไดทางขึ้นเรือน  ด้านข้างชานมี  “ฮ้านน้ำ”  วางหม้อน้ำสำหรับดื่ม   ด้านล่างเป็นใต้ถุนสูง สร้างคอกวัวควายและมีครกมองตำข้าว