4 มิถุนายน 2563
3k
Share on
 

เครื่องเขินล้านนา

 

วิถีคนเมืองกับเครื่องเขินล้านนา

         คำว่า “ เครื่องเขิน ” หมายถึง  ภาชนะ เครื่องมือ หรือ  ของใช้  ที่ผลิตขึ้นโดยชาวเชียงใหม่ที่มีเชื้อสายสืบมาจากไทเขินแต่โบราณ  คำนี้น่าจะบัญญัติขึ้นโดยคนไทยภาคกลาง  หรือ ข้าราชการจากส่วนกลางที่ขึ้นมาอยู่ในภาคเหนือเมื่อประมาณ 100 ปีที่แล้ว  เพราะว่าคำนี้มิได้ปรากฏอยู่ในภาษาพื้นถิ่นของชาวเชียงใหม่ 

         ชาวเชียงใหม่เรียกชื่อภาชนะของใช้ต่าง ๆ  ไม่ว่าจะเป็นงานช่างฝีมือประเภทใด  ตามลักษณะการใช้งานมากกว่าการระบุถึงวัสดุหรือเทคนิคการผลิต  แม้บางครั้งอาจกล่าวถึงบ้าง  ถ้าวัสดุนั้นเป็นของมีค่า  เช่น ขันเงิน (พานทรงสูงตีจากเนื้อเงินบริสุทธิ์ )  หรือ แอ็บหมากคำ ( ตลับใส่หมากทำด้วยโลหะทองคำ ) 

       ไทเขิน  คือ ชนพื้นเมือง  หรือ   คนกลุ่มตระกูลไท–ลาว   ที่ตั้งรกรากสร้างบ้านแปงเมืองอยู่ในที่ราบลุ่มของแม่น้ำเขิน  ซึ่งเป็นแม่น้ำที่สำคัญดุจสายเลือดของแคว้นเชียงตุง  โดยเชื้อสาย  ภาษาพูด  วิถีชีวิตความเป็นอยู่ ศิลปวัฒนธรรม ชาวไทเขินเป็นชนกลุ่มหนึ่งในตระกูลไทลื้อที่กระจายอยู่ทั่วไปในลุ่มแม่น้ำโขงตอนกลาง อยู่กันมานับพันปี      มีศูนย์กลางการปกครองสำคัญภายใต้การปกครองแบบระบบกษัตริย์ เรียกว่า “ สิบสองปันนา ”   มีเมืองเชียงรุ่งเป็นราชธานี   แคว้นเชียงตุงมิได้ขึ้นอยู่กับสองสองพันนาโดยตรง  แต่มีความสัมพันธ์และผูกพันกันอย่างใกล้ชิด    ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ  สังคม  และวัฒนธรรม  เจ้านายและราชวงศ์ที่ปกครองเชียงใหม่  เชียงตุงและ เชียงรุ่ง  มีความเกี่ยวพันฉันท์เครือญาติ  มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน    คำว่า “เขิน”   ออกเสียงเป็นสำเนียงพื้นเมืองเชียงตุงว่า  “ ขืน”   ซึ่งแปลว่า ย้อนขึ้น  หรือ ขัดขืน  หรือ ฝืน  ดังนั้นแม่น้ำที่ไหลผ่านเชียงตุงจึงเรียกว่า “แม่น้ำขืน” เพราะว่าสายน้ำไหลย้อนขึ้นทางเหนือก่อนที่จะรวมเข้ากับแม่น้ำโขง  ปัจจุบันเชียงตุงเป็นพื้นที่การปกครองเทียบเท่ากับจังหวัด  ตั้งอยู่ในรัฐฉานตะวันออกของประเทศพม่า  หรือ เมียนม่าร์

         เครื่องเขินในความคิดและความเข้าใจของคนทั่วไปในปัจจุบัน คือภาชนะของใช้หรือของตกแต่งบ้าน  ที่มีโครงภายในเป็นเครื่องจักสานทำจากวัสดุไม้ไผ่หวายหรือไม้จริง  ภายนอกเคลือบทาด้วยยางจากต้นไม้รักที่มีลักษณะเป็นสีดำเพื่อให้เกิดความคงทน  มีคุณสมบัติที่กันน้ำและความชื้นได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มความสวยงามให้แก่ผิวของภาชนะด้วย   ลักษณะที่มันเงาหรือบางทีปรับเป็นพื้นผิวลักษณะต่างๆ ทำให้น่าสนใจ   เครื่องเขินจีนและญี่ปุ่นมีพัฒนาการด้านการตกแต่งผิวอย่างก้าวไกลมากจนเป็นการสร้างสรรเชิงศิลปะระดับสูง    มีความวิจิตรพิสดารและความงามอย่างลึกซึ้ง

         ในอดีต เครื่องเขินที่เป็นของใช้ในครัวเรือนทั่วๆไป  นิยมออกแบบให้มีลักษณะแข็งแรงทนทาน   แต่มีน้ำหนักเบา  ชาวล้านนาแต่เดิมมีที่อยู่อาศัยเป็นเรือนเครื่องผูก  มีส่วนประกอบและโครงสร้างเป็นไม้ไผ่เสียส่วนใหญ่  ดังนั้นในวัฒนธรรมการกินอยู่จึงไม่มีเฟอร์นิเจอร์และเครื่องเรือนที่ใหญ่และหนักเทอะทะ

         คุณสมบัติสำคัญของเครื่องเขิน  คือ มีน้ำหนักเบา  ยืดหยุ่นบิดตัวได้บ้าง  ไม่แตกหักเสียหายอย่างทันทีทันใดเช่นเครื่องปั้นดินเผา  วัสดุการผลิตเป็นสิ่งที่เสาะหาได้ง่ายโดยทั่วไปในท้องถิ่นและเทคนิคประกอบกับการตกแต่งไม่สลับซับซ้อนจนเกินไป 

      ในพิธีกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นพิธีเลี้ยงผีแบบพื้นเมือง หรือพิธีกรรมทางพุทธ    แต่เดิมจะต้องใช้ภาชนะเครื่องเขินเกือบทั้งสิ้น ขบวนขันหมากเจ้าบ่าวไปขอลูกสาว หรือขบวนแห่นำเครื่องไทยทานไปถวาย หรือแม้แต่เจ้านายเสด็จไปทางไหน จำต้องมีพานขันดอกเครื่องเขินนำขบวน  ชนชั้นสูงไปไหนมาไหนจะมีบ่าวไพร่ยกขันหมาก กระโถน แอ็บยาเส้น พาน คนโท นำมาเป็นแถว ซึ่งล้วนแต่เป็นเครื่องเขินมาก่อน เพิ่งมาปรับเป็นเครื่องโลหะในยุคหลัง ๆ เมื่อไม่นานมานี้

      ตามบ้านเรือนรุ่นเก่าในล้านนา  เราพบเครื่องเขินของใช้อยู่ตามมุมต่าง ๆ ในตำแหน่งที่มีการใช้สอย เช่น หีบผ้า เอิบ และกล่องใส่ของมีค่าอยู่บนหิ้งหรือฝ้าเพดาน ขันดอกขันไหว้ผีปู่ย่าบรรพบุรุษอยู่ที่หิ้งไหว้ผีหัวนอนของผู้สูงอายุ ขันหมาก ขันเมี่ยงอยู่ที่หน้าเรือนพร้อมทีจะใช้รับแขก ขันโตก ปุงเมล็ดผักพันธุ์พืชอยู่ในห้องครัวไฟ ของใช้เหล่านี้นอกเหนือจากรองรับหน้าที่ปกติในบ้านเรือนแล้ว ยังเป็นสมบัติที่มีไว้อวดไว้แสดง บ้านเรือนใดมีขันหมากลวดลายสวยงามย่อมเป็นเกียรติเป็นศรีแก่เจ้าของเรือน หีบผ้าเจ้าบ่าวเมื่อแห่ไปถึงบ้านเจ้าสาว ย่อมบ่งถึงฐานะความมั่งมีของครอบครัวฝ่ายชาย อีกทั้งลวดลายประดับ ยังบอกถึงรสนิยมและฐานะทางสังคมของผู้เป็นพ่อแม่     งานประเพณีฟ้อนผีมด ผีเม็ง เซ่นไหว้ผีบรรพชนของแต่ละสายตระกูล  จำเป็นต้องใช้ภาชนะเซ่นไหว้มากมายในแต่ละครั้ง ญาติพี่น้องเชื้อสายเดียวกันย่อมนำเอาภาชนะขันดอกขันไหว้ของตนมาชุมนุมที่บ้านเจ้าภาพสำหรับพิธีการ ตระกูลใดมีเครื่องเขินขันดอกสวยงามก็เป็นที่โจษขาน ไม่น้อยหน้าวงศ์ตระกูลอื่น สายวงศ์ใดไม่มีภาชนะของใช้ที่วิจิตรงดงาม มักจะเป็นที่ดูถูกดูแคลนในสังคม จำต้องขวนขวายหาเก็บหาเก็บหาซื้อไว้เป็นสมบัติ

 

คัดลอกข้อมูลมาจาก : หนังสือเครื่องเขินในวัฒนธรรมล้านนา เขียนโดย อาจารย์วิถี พานิชพันธ์