23 มีนาคม 2563
3k
Share on
 

วิธีการรื้อย้ายเรือนโบราณ

 

วิธีการรื้อย้ายเรือนโบราณ
การรื้อย้ายเรือนที่มีอายุเก่าแก่นั้น เป็นเรื่องค่อนข้างยุ่งยากซับซ้อนและต้องระมัดระวังเป็นอย่างมาก จึงต้องใช้ “สล่า” คือช่างผู้มีความรู้ความชำนาญในการควบคุมดูแลกำกับทุกขั้นตอน เพื่อไม่ให้มีความผิดพลาดอันอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อตัวเรือน ก่อนที่จะรื้อย้ายต้องเตรียมการบันทึกรายละเอียดของโครงสร้าง โดยเริ่มจากวัดส่วนประกอบต่างๆ ของตัวเรือนแล้วจึงเขียนแปลนขึ้นมา เพื่อให้สามารถตรวจสอบความถูกต้องหลังจากขั้นตอนการประกอบใหม่เสร็จสมบูรณ์แล้ว ซึ่งจะช่วยให้ตัวเรือนอยู่ในสภาพเดิมมากที่สุด ทั้งนี้สล่าจะต้องสำรวจส่วนที่ชำรุดเสียหายและส่วนใดที่มีรายละเอียดมากต้องระวังเป็นพิเศษ เช่น ตรวจดูว่ามี “ยันต์ฟ้าฟีก” หรือ “ยันต์หัวเสา” ของห้องนอนใหญ่หรือไม่ ซึ่งเรือนโบราณส่วนใหญ่จะพบว่ามียันต์ชนิดนี้อยู่ เนื่องจากคนล้านนาเชื่อว่าเป็นยันต์ที่ช่วยปกป้องคุ้มภัยทั้งภัยจากธรรมชาติและภัยจากภูติผีปีศาจทั้งหลาย หากพบยันต์บนหัวเสาแล้ว จะต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษในการรื้อยันต์ออก เพื่อไม่ให้ยันต์ชำรุดเสียหายจาการรื้อย้ายได้
ก่อนที่จะเริ่มรื้อถอนเรือน สล่าจะต้องประกอบพิธีขอขมาและบอกกล่าวกับ “ผีหอผีเฮือน” (ผีหอผีเรือน) จากนั้นก็ฉีดพรมน้ำในส่วนประกอบของเรือนที่เป็นไม้ให้ชุ่มด้วยความระมัดระวัง แล้วทิ้งไว้ประมาณ ๒๐ – ๓๐ นาที เพื่อให้เนื้อไม้เกิดการยืดหยุ่นและไม่เปราะแตกขณะที่ถอดชิ้นส่วนต่างๆ ออกจากกัน เมื่อเตรียมการทุกอย่างเรียบร้อยแล้วจึงเริ่มรื้อเรือนตามขั้นตอนและวิธีการดังนี้
๑.อันดับแรกรื้อหลังคาออกก่อน หากเป็นกระเบื้องดินขอก็ต้องถอดออกทีละแผ่นอย่างระมัดระวัง เพื่อไม่ให้แตกหักเสียหาย หากหลีกเลี่ยงความเสียหายไม่ได้อาจนำกระเบื้องใหม่มาทดแทนได้บ้าง
๒.เมื่อรื้อกระเบื้องออกทั้งหมดแล้วจึงเริ่มรื้อโครงหลังคาโดยวิธีการยกออกทั้งแผง เพราะหลังคาเรือน
๓.โบราณมักทำเป็นเดือยสวมทับกับจั่ว ในการยกจั่วออกอาจใช้รถเครนหรือรถยกเข้าช่วย
๔.ถอดฝาเรือนโดยการยกออกทั้งแผง จากนั้นจึงแกะไม้คร่าวและไม้เชน(เจน) ของฝาเรือนทั้ง ๔ ด้านออก
๕.แกะไม้พื้นเรือนหรือฝากระดาน โดยค่อยๆ งัดออกจากเดือยไม้ทีละชิ้นอย่างระมัดระวัง
๖.ถอดขื่อและแป โดยต้องทำรหัสตัวเลขเป็นเครื่องหมายของไม้แต่ละชิ้นก่อนถอดออก เพื่อให้ง่ายต่อการนำมาประกอบใหม่
๗.แกะไม้ต๋งและแวง (รอด) ออก โดยต้องทำรหัสไว้ด้วยเช่นกัน
๘.ขุดเสาเรือนออก โดยขุดลึกลงไปพอประมาณแล้วรดน้ำลงในหลุม เพื่อให้ดินที่แข็งอยู่นั้นอ่อนนิ่มเป็นโคลน สะดวกต่อการถอนเสาออก จากนั้นใช้รถเครนยกถอนเสาออกจากหลุมจนครบ ซึ่งการถอนเสาเรือนก็ต้องทำรหัสของเสาแต่ละต้นเช่นเดียวกันกับส่วนประกอบอื่นๆ เพื่อให้นำไปประกอบเรือนใหม่ตามตำแหน่งของเสาเอก เสานางและเสาบริวารได้อย่างถูกต้อง
(ข้อมูล: หนังสือเรือนล้านนากับวิถีชีวิต ผู้แต่ง ฐาปนีย์ เครือระยา หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มช.
ภาพ: การรื้อย้ายเรือนทรงปั้นหยาอนุสารสุนทร)