
เรือนพื้นถิ่นแม่แตงปลูกสร้างครั้งแรกประมาณปี พ.ศ. 2460 ที่บ้านป่าไผ่ ต.ช่อแล อ.แม่แตง จ. เชียงใหม่ เดิมเป็นเรือนของ พ่อน้อยปิง แล้วตกทอดมาถึง นางขาล ตาคำ จากนั้นได้ย้ายมาปลูกสร้างไว้ที่สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมเมื่อปี พ.ศ. 2551
รูปแบบเป็นเรือนพื้นถิ่นที่มีการจัดพื้นที่ใช้สอยตามการใช้งานของครอบครัวในชนบท ตัวเรือนเป็นจั่วแฝดยกพื้นสูงสร้างด้วยไม้เนื้อแข็งทั้งหลัง โครงสร้างเป็นระบบเสาและคานใช้ประกอบแบบเจาะช่องสอดเข้าเดือย บาก พาดผนังเรือนเป็นไม้แผ่นตีซ้อนแนว ส่วนพื้นเรือนปูด้วย “ไม้แป้น” หรือไม้กระดาน โดยยกพื้นห้องนอนและเติ๋นขึ้นมาหนึ่งระดับเพื่อแบ่งส่วนพื้นที่ใช้สอย อีกทั้งสามารถใช้ประโยชน์ในการนั่งตรงบริเวณจุดต่างระดับของพื้นอีกด้วย ส่วนหลังคาสองจั่วหลักเชื่อมต่อกันโดยมุงกระเบื้องดินขอ มี “ฮ่อมลิน” คือทางเดินระหว่างเรือนสองหลังเป็นแนวยาวระหว่างเรือนนอน จากพื้นที่เติ๋นไปยังด้านหลังเรือน เหนือฮ่อมรินเป็น “ฮางริน” หรือรางระบายน้ำฝนวางในจุดเชื่อมต่อระหว่างชายคาสองจั่วชายคา ด้านหน้าเรือนใกล้กับบันไดในส่วนของชานมี “ฮ้านน้ำ” ทำเป็นชั้นยื่นออกมา พื้นที่ของเติ๋นและชานทำหลังคายื่นออกมาคลุมทั้งหมดไว้ แล้วกั้นด้านหน้าเรือนด้วย “ฝาไหล” เป็นเหมือนฝาที่สามารถเลื่อนเปิดหรือปิดช่องว่างระบายอากาศได้ รอบๆ เรือนทำระเบียงไม้ระแนงกั้นไว้ เพื่อให้ตัวเรือนดูมิดชิดขณะเดียวกันก็ช่วยถ่ายเทอากาศได้ด้วย ซึ่งแตกต่างจากเรือนล้านนาโบราณที่เปิดโล่งในส่วนของเติ๋นและชาน