
เรือนอุ๊ยผัด เป็นของ อุ๊ยผัด โพธิทา อยู่ที่ตำบลป่าพลู อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ สันนิษฐานว่าตัวเรือนสร้างขึ้นประมาณ พ.ศ. 2460 โดยทาง มูลนิธิจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์ และ อาจารย์ศิริชัย นฤมิตรเรขการ เห็นถึงความสำคัญของการอนุรักษ์เรือนนี้ จึงได้สนับสนุนการรื้อย้ายจากอำเภอจอมทองมาปลูกไว้ในบริเวณที่ตั้งของสำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม เมื่อ พ.ศ. 2537
ลักษณะเป็นเรือนกาแลขนาดเล็กยกพื้นสูง ทำด้วยไม้ทั้งหลัง หลังคามุงด้วย “แป้นเกล็ด” หรือ กระเบื้องไม้ ตัวเรือนมี 3 จั่ว คือ “เฮือนนอน” ทำเป็นจั่วขนาดใหญ่อยู่ทางด้านตะวันออก ส่วน “เฮือนไฟ” มีขนาดเล็กอยู่ทางด้านตะวันตก และจั่วขวางขนาดเล็กด้านหน้าเรือนเป็นที่วางหม้อน้ำดื่ม มีบันไดทางขึ้นทั้งด้านหน้าและหลังเรือน บันไดด้านหน้าเรือนเชื่อมต่อกับชาน หรือที่คนเมืองเรียกว่า “ชานฮ่อม” ถัดจากชานเข้าไปด้านซ้ายมือมี “ฮ้านน้ำ” ทำเป็นชั้นไม้ยกระดับติดกับข้างฝา เป็นที่สำหรับตั้งหม้อน้ำไว้บริการแขกผู้มาเยือนและคนในเรือน ถัดจากชานฮ่อม เป็นบริเวณของ “เติ๋น” ซึ่งถูกยกระดับให้สูงกว่าพื้นชานฮ่อมราวหนึ่งคืบและอยู่ภายในชายคาเรือน พื้นที่ส่วนนี้มีความกว้างมากพอสำหรับใช้ประโยชน์ได้ตามเอนกประสงค์ ด้านตะวันออกของเติ๋นจะตีฝาไม้คั่นระหว่างเติ๋นกับชานฮ่อมเพื่อกั้นเป็น “หิ้งพระ” โดยทำชั้นไม้ติดกับผนังฝั่งขวา ตรงกลางเติ๋นเป็นทางเดินยาวทะลุไปถึงชานด้านหลังเรือน ภายในเรือนถัดจากเติ๋นคือห้องนอน ภายในเป็นห้องโถงกว้างแบ่งเป็นห้องเล็กๆ โดยใช้ “ผ้ากั้ง”ตรงส่วนบนของกรอบประตูห้องนอนจะมีแผ่นไม้แกะสลักลวดลายต่างๆ เรียกว่า “หัมยนต์” อันเป็นเครื่องรางป้องกันภูตผีปิศาจมารบกวน