เรือนทรงอาณานิคม (คิวรีเปอล์)

เรือนทรงอาณานิคม (คิวรีเปอล์)
 

บ้านหลังนี้เป็นอาคารที่ปลูกสร้างในปี พ.ศ.๒๔๖๙ โดยอยู่บนพื้นที่นี้มาตั้งแต่แรกเริ่ม เป็นบ้านทรงอาณานิคม ซึ่งเป็นลักษณะของอาคารพักอาศัยที่เริ่มเป็นที่นิยมในช่วงสมัยรัชกาลที่ ๕ การปลูกสร้างอาคารที่อยู่อาศัยที่มีรูปแบบสถาปัตยกรรมยุคสมัยอาณานิคมหรือโคโลเนียลในจังหวัดเชียงใหม่ ส่วนหนึ่งมาจากการที่บริษัทบอมเบย์ - เบอร์มาของประเทศอังกฤษ ได้รับสัมปทานป่าไม้ในประเทศพม่าและแถบจังหวัดทางภาคเหนือของไทย คือ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง และ แพร่ จึงมีเจ้าหน้าที่ชาวอังกฤษเข้ามาควบคุมดูแลการทำงานของคนงานชาวพม่า เจ้าหน้าที่ชาวอังกฤษเหล่านี้หลายคนได้สร้างบ้านพักของตนเองขึ้นในจังหวัดเชียงใหม่ โดยได้นำเอาลักษณะงานสถาปัตยกรรมของตะวันตกที่ตนเองคุ้นเคย ที่ใช้วัสดุจำพวกอิฐหินปูนมาก่อสร้างบ้าน โดยมีการปรับให้เข้ากับสภาพภูมิอากาศแบบร้อนชื้น เพิ่มให้มีระเบียงและช่องเปิดที่มีขนาดใหญ่ เพื่อให้อากาศไหลเวียน ทั้งยังมีการผสมผสานเข้ากับลักษณะทางสถาปัตยกรรมท้องถิ่นเชียงใหม่ จึงเป็นสถาปัตยกรรมผสมผสานระหว่างตะวันตกและตะวันออก หรือที่เรียกว่าสถาปัตยกรรมอิทธิพลตะวันตก

เรือนของนายอาเธอร์ ไลออนแนล คิวรีเปอล์ (Mr. Arthur Lionel Queripel) นี้ มีผังอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า สูงสองชั้น ก่อด้วยอิฐฉาบปูน มีระเบียงด้านหน้าอาคารทั้งสองชั้น มีมุขบันไดทางขึ้นอยู่ส่วนกลางบ้าน ผ่านระเบียงเข้าสู่ตัวบ้านเป็นโถงใหญ่ที่มีเตาผิงและบันไดทางทิศใต้ ขึ้นสู่ชั้นสองเป็นระเบียงเชื่อมเข้าสู่ห้องทางด้านซ้ายและขวา โดยห้องทางทิศเหนือจะมีประตูออกสู่ระเบียงยาวด้านนอกอาคารทางทิศเหนือที่มีหลังคาคลุม ส่วนห้องทางทิศตะวันออกและตะวันตกไม่มีระเบียง ตัวอาคารมีความสูงในชั้นล่างมากเพื่อการไหลเวียนของอากาศ แต่ชั้นบนไม่สูงมากนักเนื่องจากมีความสูงของหลังคารวมอยู่ด้วย ฐานรากอาคารติดพื้นดิน ใช้การปรับดินให้เรียบแล้ววางฐานรากแบบแผ่ในพื้นที่สร้างอาคาร โดยก่อขึ้นเป็นผนังรับน้ำหนักส่วนบนโดยตรง ลักษณะหลังคาจะเป็นทรงเดียวคลุมพื้นที่ของตัวบ้านทั้งหมด มีส่วนบนเป็นยอดจั่วขนาดเล็กที่มีความลาดชันไม่มาก หันทิศตามตะวัน ซึ่งจะมีชายคาลาดทั้งสี่ด้านลงมาคลุมถึงระเบียงกันฝนสาด ระเบียงที่มีหลังคาคลุมรอบอาคารสามารถจัดเป็นพื้นที่ใช้ทำกิจกรรมทั่วไปในตอนกลางวัน ซึ่งเป็นบริเวณที่มีอากาศไหลเวียนได้ดี การใช้พื้นที่ภายในอาคารจะแบ่งเป็นห้องย่อยๆ ตามลักษณะการใช้งานเป็นสำคัญ เนื่องจากอาคารมีลักษณะคล้ายกล่องที่ตั้งกลางแดดที่มีการสะสมความร้อนอยู่ภายใน จึงต้องการเปิดที่โล่งสู่ส่วนระเบียงโดยรอบ เรือนลักษณะนี้จึงเน้นช่องเปิด มีทั้งช่องเปิดภายนอก (ประตู หน้าต่าง) และภายในอาคาร (ประตู ช่องลม) จำนวนมากและมีขนาดใหญ่ เพื่อให้ลมสามารถพัดเข้าสู่ภายในอาคารและสามารถไหลเวียนผ่านไปยังห้องต่างๆ ได้อย่างทั่วถึง ซึ่งช่วยลดปริมาณอากาศร้อนที่สะสมอยู่ภายในอาคาร เนื่องจากภูมิอากาศในแถบนี้ร้อนมากหากเทียบกับสภาพอากาศในยุโรป ที่ต้องสร้างอาคารปิดทึบเพื่อป้องกันอากาศหนาวเย็นจากภายนอกเข้าสู่ตัวอาคาร ส่วนผนังนั้นก่อด้วยอิฐฉาบปูนหนาประมาณ ๖๐ - ๘๐ ซม. ซึ่งสามารถช่วยลดปริมาณการถ่ายเทความร้อนจากภายนอกที่ผ่านผนังเข้าสู่อาคารได้ ทั้งยังช่วยรับน้ำหนักอาคารส่วนบนอีกด้วย ภายในบ้านมีการใช้เตาผิง เนื่องจากในช่วงฤดูหนาวของภาคเหนือในสมัยก่อนมีอากาศหนาวเย็น

การแบ่งพื้นที่ใช้สอยภายในอาคารแบ่งตามระดับของอาคาร ชั้นที่หนึ่งจะเป็นพื้นที่อเนกประสงค์ ใช้ทำกิจกรรมทั่วไป (ห้องนั่งเล่น ห้องรับแขก) ส่วนชั้นสอง จะเป็นห้องนอนและห้องส่วนตัว มีบันไดภายในอาคารจากบริเวณโถงใหญ่เชื่อมต่อระดับชั้นล่างและบน ซึ่งต่างจากความเชื่อท้องถิ่นของภาคเหนือที่ไม่นิยมสร้างบันไดไว้ภายในบ้าน หลังคาแบ่งแยกออกจากที่ว่างภายในชัดเจน โดยชั้นสองจะมีฝ้าเพดานปิดโครงสร้างหลังคาทั้งหมด หลังคามุงด้วยกระเบื้องว่าว มีช่องทางขึ้นขนาดเล็กที่ใช้เพื่อซ่อมหลังคาได้ รูปแบบของหลังคาเป็นหลังคาทรงจั่วมะนิลา มีหลังคาคลุมระเบียงโดยรอบอาคารเป็นการป้องกันฝนที่จะสาดเข้าสู่ภายในอาคาร

อาคารลักษณะนี้เป็นสถาปัตยกรรมตะวันตกที่เข้ามามีอิทธิพลในช่วง ยุคแรก ซึ่งเป็นการสร้างอาคารพักอาศัยของชาวตะวันตกเองอย่างแท้จริง จนกระทั่งในภายหลังกลุ่มอาคารเหล่านี้เองที่เป็นแบบอย่างให้กับกลุ่มชนชั้นสูงในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งรับอิทธิพลและนำเอาไปผสมผสานกับรูปลักษณ์และความเชื่อท้องถิ่นจนกลายเป็นแบบอย่างการสร้างอาคารที่พักอาศัยของคนไทยและท้องถิ่นกันอย่างแพร่หลายต่อมา โดยจะเห็นได้จาก “คุ้ม” ซึ่งเป็นที่พักอาศัยของเจ้านาย และเรือนพักอาศัยของพ่อค้า ที่จะสร้างเป็นอาคารสองชั้น (ไม้ทั้งหลัง ก่ออิฐฉาบปูน หรือผสม) มีการแบ่งห้องย่อยๆ ตามการใช้งานแบบตะวันตก ทำให้มีวิถีชีวิตเปลี่ยนไปจากเดิมหากแต่ยังคงมีกลิ่นอายของความเป็นพื้นถิ่นและความเชื่อที่แฝงในรูปแบบ องค์ประกอบสถาปัตยกรรม ก่อนที่จะค่อยๆ หายไปทีละน้อย จนกลายมาสู่รูปแบบบ้านพักอาศัยเช่นในปัจจุบัน

เจ้าของบ้านเดิมคือ นายอาเธอร์ ไลออนแนล คิวรีเปอล์ (Mr. Arthur Lionel Queripel) สร้างขึ้นในราวปี พ.ศ.๒๔๖๙ โดยหม่องตัน ชาวพม่าเป็นสถาปนิกและผู้รับเหมาก่อสร้าง นายอาเธอร์ ไลออนแนล คิวรีเปอล์นี้ บ้างเรียก คิวรีเปอล์ หรือ นายคิว เป็นชาวอังกฤษมีภรรยาคนไทยชื่อนางดอกจันทร์ ชาวบ้านเรียกว่าแม่เลี้ยงดอกจันทร์ เป็นชาวลำปาง เชื้อสายไทใหญ่ ภายหลังครอบครัวได้เปลี่ยนนามสกุลจาก คิวรีเปอล์ เป็น กีรติปาล โดยขอนามสกุลจาก พระองค์เจ้าอาทิตย์ ทิพยอาภา

นายคิวรีเปอล์เข้ามาทำงานในประเทศไทยที่จังหวัดเชียงใหม่และแพร่ เป็นพนักงานของบริษัทค้าไม้ บอมเบย์ - เบอร์ม่า จำกัด พ.ศ.๒๔๔๓ - ๒๔๕๗ บางครั้งก็เข้าไปทำงานในประเทศพม่าในช่วงปี พ.ศ.๒๔๕๓ - ๒๔๖๒ ในฐานะผู้จัดการของบริษัทดังกล่าวที่กรุงเทพฯ 

นายคิวรีเปอล์ผู้นี้สามารถพูดภาษาคำเมืองได้คล่อง เป็นคนรักศิลปะและกีฬาเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกีฬาโปโล ส่วนด้านศิลปะนั้นนายคิวรีเปอล์เป็นผู้ที่ชอบการแกะสลัก และการทอผ้าเป็นอย่างมาก เป็นชาวต่างชาติที่ริเริ่มการว่าจ้างให้ช่างพื้นบ้านเชียงใหม่แกะสลักรูปช้างประดับภายในบ้านเป็นคนแรก บริเวณที่ตั้งบ้านของนายคิวรีเปอล์นี้ แต่เดิมเรียกกันว่า “หลิ่งห้า” บริเวณบ้านมีเนื้อที่ประมาณ ๑๐๐ ไร่ ล้อมด้วยรั้วลวดหนาม และปลูกไม้ไผ่รอบบ้าน มีสัตว์เลี้ยงต่างๆ เช่น วัว ควาย แพะ และมีการปลูกไม้ดอก ไม้ผลนานาชนิด โดยเฉพาะสตรอเบอรี่ จนภายหลังเป็นที่นิยมแพร่หลาย โดยเฉพาะในจังหวัดเชียงใหม่ ผลไม้จากสวนของนายคิวรีเปอล์ได้ส่งไปถวาย รัชกาลที่ ๗ และได้จัดส่งให้ หลวงประดิษฐ์ มนูธรรม เป็นประจำทุกปี ส่วนสวนดอกไม้นั้นสวยงามเป็นที่ร่ำลือ เมื่อครั้งที่รัชกาลที่ ๗ เสด็จประพาสเชียงใหม่พระองค์ได้เสด็จมาชมสวนภายในบริเวณบ้านของนายคิวรีเปอล์แห่งนี้ด้วย นายคิวรีเปอล์ถึงแก่กรรม ที่โรงพยาบาลจุฬา กรุงเทพฯ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๙

ปลายปี พ.ศ.๒๔๙๘ เมื่อสงครามมหาเอเชียบูรพาใกล้จะยุติ เจ้าชื่นสิโรรส ซึ่งอพยพจากถ้ำผาผัวะ กลับเข้าเมืองเชียงใหม่ ได้กราบอาราธนาหลวงปู่สิมให้ย้ายเข้ามาพักจำพรรษาที่ตึกของแม่เลี้ยงดอกจันทร์ กีรติปาล (คิวรีเปอล์) ซึ่งเป็นตึกว่างไม่มีใครอยู่ นอกจากคนที่อยู่เฝ้าคอยดูแลรักษา เนื่องจากแม่เลี้ยงดอกจันทร์และลูกหลานได้อพยพหนีภัยสงครามไปอยู่ที่อื่น หลวงปู่สิมอยู่จำพรรษาที่ตึกของแม่เลี้ยงดอกจันทร์ได้ ๒ พรรษา คือปี พ.ศ.๒๔๘๙ – ๒๔๙๐ ลูกหลานของนายคิวรีเปอล์ก็ได้กลับเข้ามาบูรณะซ่อมแซมและใช้เป็นที่พักอาศัยของครอบครัวอีกครั้ง จนกระทั่งบ้านหลังนี้ถูกเวนคืนให้กับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในปี พ.ศ.๒๕๐๖ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้กำหนดให้อาคารหลังนี้ เป็นสถานที่ทำการของสถาบันวิจัยสังคม และเมื่อสถาบันวิจัยสังคมได้ย้ายที่ทำการไปยังอาคารสำนักงานแห่งใหม่ อาคารหลังนี้จึงได้ถูกกำหนดให้เป็นที่ทำการของสำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๓๗ จนถึงปัจจุบัน

 
รูปภาพ
เรือนทรงอาณานิคม (คิวรีเปอล์)
เรือนทรงอาณานิคม (คิวรีเปอล์)
เรือนทรงอาณานิคม (คิวรีเปอล์)
เรือนทรงอาณานิคม (คิวรีเปอล์)
เรือนทรงอาณานิคม (คิวรีเปอล์)
เรือนทรงอาณานิคม (คิวรีเปอล์)
เรือนทรงอาณานิคม (คิวรีเปอล์)
เรือนทรงอาณานิคม (คิวรีเปอล์)
เรือนทรงอาณานิคม (คิวรีเปอล์)
เรือนทรงอาณานิคม (คิวรีเปอล์)
เรือนทรงอาณานิคม (คิวรีเปอล์)
เรือนทรงอาณานิคม (คิวรีเปอล์)
เรือนทรงอาณานิคม (คิวรีเปอล์)
เรือนทรงอาณานิคม (คิวรีเปอล์)
เรือนทรงอาณานิคม (คิวรีเปอล์)
 

แบบสถาปัตยกรรม

 

ดาวน์โหลดไฟล์ PDF

 
 
เผยแพร่เมื่อ 16 ตุลาคม 2562 • การดู 16,360 ครั้ง