ลักษณะหมู่บ้านของชาวล้านนา

ลักษณะหมู่บ้านของชาวล้านนา
 

หมู่บ้านของชาวล้านนามีรูปแบบอยู่  2  ลักษณะคือ  หมู่บ้านที่ตั้งอยู่ขนานกับเส้นทางสัญจร  และหมู่บ้านที่กระจุกตัวเป็นกลุ่ม  ซึ่งในลักษณะแรกมักเป็นหมู่บ้านที่ติดกับเส้นทางการค้า  รองรับการค้าขาย  ส่วนหมู่บ้านที่มีลักษณะเป็นกลุ่ม  ตั้งอยู่ค่อนข้างไกลจากเส้นทางสัญจรหลัก  เกิดจากการสร้างบ้านเรือนกระจายออกจากจุดศูนย์กลางของตัวหมู่บ้านออกไปเรื่อยๆ  ตามการขยายตัวของคนในชุมชน  ปัจจุบันเราไม่สามารถเห็นขอบเขตของหมู่บ้านแต่ละกลุ่มในเมืองใหญ่ได้อย่างชัดเจน  เพราะการขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็วของสังคม  หมู่บ้านต่างๆ อยู่ติดๆ กันเป็นผืนใหญ่  แต่ในชนบทบางแห่งยังคงพบว่าหมู่บ้านแต่ละที่มีระยะห่างไกลกันพอสมควร  จึงเห็นเขตของหมู่บ้านอย่างชัดเจน  โดยมีที่นาหรือป่าชุมชนตั้งอยู่ระหว่างแต่ละหมู่บ้าน 

ผังหมู่บ้านของชาวล้านนาในอดีต  ค่อนข้างที่จะมีแบบแผนชัดเจน  โดยทำเลที่เหมาะสมกับการตั้งหมู่บ้านที่ดีที่สุดคือต้องมีแหล่งน้ำ  หากบริเวณนั้นมีพื้นที่ดอนและที่ราบแม่น้ำไหลผ่าน  ก็จะตั้งบ้านเรือนอยู่บนที่สันดอน  ส่วนที่ราบนั้นจะจำกัดไว้สำหรับการเพาะปลูก  เพราะเป็นบริเวณที่น้ำชุ่มตลอดทั้งปี  เหมาะแก่การปลูกข้าวเป็นอย่างยิ่ง 

            ใจบ้าน  เป็นส่วนที่สำคัญที่สุดของหมู่บ้านชาวล้านนาคือ  ใจบ้านเปรียบได้กับขวัญของหมู่บ้าน  ที่มีเทวาอารักษ์หรือเสื้อบ้านสถิตอยู่เพื่อคอยดูแลป้องกันสิ่งชั่วร้ายไม่ให้เข้ามาในหมู่บ้านได้  นิยมกำหนดให้อยู่ในบริเวณต้นไม้ใหญ่  หรือสร้างหอเสื้อบ้านขึ้นมา หรือปักเสาหลักเป็นเสื้อบ้านก็ได้  ซึ่งใจบ้านส่วนใหญ่จะอยู่กลางหมู่บ้านบริเวณเดียวกับข่วงบ้าน  เป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับทำกิจกรรมต่างๆ ของคนในหมู่บ้านร่วมกัน

          หอผีเสื้อบ้านหรือหอเจ้าบ้าน  มักอยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่หรือพื้นที่พิเศษแตกต่างไปจากพื้นที่โดยทั่วไป  เช่น  บริเวณจอมปลวก  บริเวณที่ดอน  เป็นต้น  มีลักษณะเป็นเรือนจำลองขนาดเล็ก  ในอดีตสร้างด้วยไม้  ตัวหอยกพื้นขึ้นสูงเล็กน้อย  แต่ในปัจจุบันหมู่บ้านบางแห่งหอผีเสื้อบ้านชำรุด  จึงสร้างใหม่เป็นอาคารก่อปูนชั้นเดียวขนาดใหญ่กว่าแบบเดิม  ภายในหอผีมีชั้นสำหรับวางเครื่องสักการะและของใช้ของผี  คือ  ขันหมาก  น้ำต้น  ดาบ  รูปปั้นม้าหรือช้าง  ฯลฯ   ทุกปีก็จะมีพิธีเซ่นไหว้ถวายเครื่องสังเวยให้ผีเสื้อบ้าน  เพื่อเป็นการแสดงความเคารพและร้องขอให้ช่วยดูแลรักษาหมู่บ้านให้ปลอดภัย          

            ข่วงบ้าน  เป็นลานโล่งกว้าง  ไม่มีสิ่งก่อสร้างหรือต้นไม้ขึ้นมากีดขวาง  มักอยู่บริเวณหน้าหอผีเสื้อบ้านหรือใจบ้าน  เป็นพื้นที่สาธารณะของคนในหมู่บ้านได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน  เดิมทีใช้เป็นที่สำหรับจัดพิธีกรรมในการเลี้ยงผีบ้าน  ภายหลังรูปแบบของหมู่บ้านมีการเปลี่ยนแปลง  จากการขยายตัวของชุมชน  ทำให้บางหมู่บ้านแทบไม่เหลือพื้นที่นี้ไว้

          กลุ่มเรือน  ลักษณะของหมู่บ้านชาวล้านนาในอดีตหรือชนบท  จะกระจุกตัวรวมกันอย่างหนาแน่นบริเวณกลางหมู่บ้านแล้วก็เบาบางลงบริเวณท้ายบ้าน  จากนั้นก็จะเป็นที่นาคั่นระหว่างหมู่บ้าน  ถนนที่ใช้ในหมู่บ้านก็จะมีขนาดเล็กแคบและคดเคี้ยว  ทางเข้าบ้านมีการแบ่งซอยย่อยออกไป  แต่หมู่บ้านในเมืองที่มีกลุ่มเรือนกระจายตัวทั่วไปในบริเวณหมู่บ้านจนไม่มีพื้นที่ว่าง  มักมีการกำหนดเขตโดยใช้ถนน  หรือแม่น้ำแบ่งเขตหมู่บ้านแทน 

            วัด  ในแต่ละหมู่บ้านต้องมีวัดประจำของตัวเอง เพื่อให้คนในชุมชนได้มีพื้นที่สำหรับการทำบุญและฟังเทศน์ธรรม  อีกทั้งยังเป็นสถานที่จัดกิจกรรมร่วมกันของชุมชนในพิธีกรรมประเพณีต่างๆ  ส่วนใหญ่หมู่บ้านแต่ละแห่งจะมีเพียงหนึ่งวัด  แต่หากเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่  หรือเป็นหมู่บ้านที่แยกออกมาจากหมู่บ้านเดิม  จะสร้างวัดใหม่เพิ่มขึ้น  เพื่อให้คนในชุมชนได้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาได้อย่างทั่วถึง  ในอดีตวัดประจำหมู่บบ้านจะตั้งชื่อเหมือนกับหมู่บ้านนั้นๆ  แต่ปัจจุบันบางแห่งอาจมีการตั้งชื่อใหม่อีกชื่อเพื่อความสวยงามทางภาษา  อย่างไรก็ตามคนในหมู่บ้านก็ยังคงมีบทบาทในการทำนุบำรุงวัด  และพระสงฆ์ในหมู่บ้านของตนเอง  ซึ่งผู้ที่ทำบุญและเข้าร่วมพิธีสงฆ์ในวัดใดวัดหนึ่งตลอดเวลา  จะเรียกตนเองว่าเป็น “ศรัทธาวัด”  ของวัดนั้นๆ  ส่วนใหญ่ก็จะเป็นศรัทธาวัดในหมู่บ้านนั้นเอง

            ที่นา  เป็นพื้นที่สำหรับปลูกข้าวหรือพืชอื่นๆ  มักอยู่บริเวณพื้นที่ลุ่มหรือใกล้กับแหล่งน้ำในแต่ละหมู่บ้านจะมีอาณาเขตที่นาอยู่รอบๆ ใจกลางของหมู่บ้าน    ซึ่งหมู่บ้านก็จะมีเรือนหลายๆ หลังอยู่กระจุกรวมกันเป็นกลุ่ม  ถัดออกไปก็จะเป็นที่นาผืนใหญ่  ซึ่งเจ้าของที่นาแต่ละคนจะจำที่ของตนเองได้  โดยแบ่งที่นาแต่ละที่ออกจากกันด้วยคันนา 

 
ลักษณะหมู่บ้านของชาวล้านนา
ลักษณะหมู่บ้านของชาวล้านนา
ลักษณะหมู่บ้านของชาวล้านนา
ลักษณะหมู่บ้านของชาวล้านนา
ให้คะแนนบทความนี้
โดยการคลิกที่ดาว มากที่สุด = 5 ดาว

คะแนนทั้งหมด


คะแนน
จาก ครั้ง
5
36
4
4
3
2
2
0
1
0
เผยแพร่เมื่อ 3 ธันวาคม 2562 • การดู 14,238 ครั้ง
 

เมนู


 
วิดีโออื่นๆ ที่น่าสนใจ
ดูทั้งหมด