23 กรกฎาคม 2563
3k
Share on
 

ผางประทีปเเละเรื่องเล่าในล้านนา

 

ผางประทีส หรือผางประทีป (อ่าน “ผางผะดี้ด หรือผางผะตี๊บ”)
 

                 คือถ้วยประทีป หรือถ้วยเล็กๆ ที่ทำด้วยดินเผารูปลักษณะแตกต่างกันตามฝีมือช่างแต่ละยุคสมัย ผางประทีสแบบเก่าที่พบหลายแห่งมีขนาดใหญ่เท่าชามแกงขนาดย่อม ซึ่งผางประทีสที่มีขนาดใหญ่เช่นนี้ก็ก็เพื่อบรรจุเชื้อเพลิงได้มากสำหรับให้แสงสว่างเป็นเวลานาน ส่วนผางประทีสที่ทำขายสำเร็จรูป คือมีทั้งประทีสน้ำมัน และตีนกา มักมีขนาดกว้างประมาณ 5 เซนติเมตร สูงประมาณ 3 เซนติเมตร และขนาดใหญ่คือประมาณ 10 เซนติเมตร สูงประมาณ 4 เซนติเมตร ซึ่งผางประทีสขนาดใหญ่นี้อาจทำเป็นชนิดที่ทำเป็นเชิงสูงขึ้นประมาณ 10 เซนติเมตรก็มีเช่นกัน ผางประทีสชนิดนี้มักจะมีลายประดับที่ปากถ้วยไว้ด้วย
                ผางประทีปหรือผางประทีส คือประทีปที่เป็นเครื่องจุดตามไฟเป็นพุทธบูชาหรือบูชาสืบชาตาอายุ หรืออีกนัยหนึ่งคือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ใช้จุดแทนเทียนในเวลากลางคืน ตัวประถางที่รองรับทำด้วยดินเผาหรือกระเบื้องเคลือบ ตามความหมายดังกล่าวคำว่า ประทีป หมายถึงแสงไฟ ผาง หมายถึงภาชนะรองรับน้ำมันหรือไขที่เป็นเชื้อเพลิงของประทีป รวมความผางประทีป คือเครื่องจุดตามไฟ
 นอกจากถ้วยประทีปแล้ว สิ่งที่สำคัญคู่กันก็คือ น้ำมัน และตีนกาหรือสีสาย ซึ่งน้ำมันที่ใช้เติมลงในถ้วยประทีปนั้น อาจเป็นน้ำมันถั่ว น้ำมันมะพร้าว น้ำมันละหุ่ง น้ำมันงา รวมถึงน้ำมันที่ได้จากสัตว์อีกด้วย ปัจจุบันนิยมใช้ขี้ผึ้ง (พาราฟีน) แต่ไม่พบว่านิยมใช้น้ำมันจากสัตว์ในประทีปที่บูชาพระ
สีสาย ซึ่งอาจอ่านเป็น “สี้สาย” หรืออ่านเคลื่อนเป็น “ขี้สาย” นั้น ทำจากด้ายฟั่นให้เป็นเชือกสองเกลียวยาวประมาณ 15 เซนติเมตร แล้วดึงแยกเกลียวทั้งสองออกจากกันโดยเว้นระยะจากปลายเชือกประมาณ 10 เซนติเมตร เมื่อปล่อยมือเชือกเกลียวแต่ละเกลียวก็จะพันกันกลับเป็นเชือกอีกทีหนึ่ง จัดแต่งเชือกทั้ง 4 ชายให้เข้ากัน โดยจัดสามชายแยกออกจากกันเป็นสามแฉก เหมือนตีนกา และอีกชายหนึ่งตั้งอยู่ตรงกลางของทั้งสามชาย ก็จะได้ตีนกา หรือสีสายตามต้องการ
ในช่วงเทศการยี่เพง (อ่าน “ยี่เป็ง”) ตรงกับวันเพ็ญเดือนสิบสอง จะมีการประดับประทีปโคมไฟกันทั่วไป นอกจากการประดับส่วนนี้แล้ว ยังใช้เป็นจุดบูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ส่วนหนึ่งตามอายุของแต่ละคน ในการตั้งธัมม์หลวง หรือฟังเทศน์มหาชาตินั้นเจ้าของกัณฑ์เทศน์กัณฑ์ใดในหาเวสสันดรชาดกก็จะจุกประทีปตามจำนวนคาถา เช่น กัณฑ์กุมาร 101 คาถา ก็จุดประทีบ 101 ดวง เป็นต้น
               ในล้านนา ตามเรื่องเล่าเกี่ยวกับที่มาของตีนกาที่ใช้เป็นไส้จุดประทีปหรือดังปรากฏในคัมภีร์ชื่อ อานิสงส์ผางประทีป เล่าว่าเมื่อครั้งดึกดำบรรพ์มีแม่กาเผือกกำลังกกไข่อยู่บนต้นไม้ใกล้แม่น้ำแห่งหนึ่ง เกิดมีลมพายุพัดรังกากระจัดกระจาย ไข่ก็ตกลงไปในแม่น้ำแล้วไหลไป แม่กาก็พลัดไปอีกทางหนึ่ง พอลมสงบแม่กาก็หาไข่ไม่พบ ก็ร้องไห้จนขาดใจตาย แล้วไปเกิดเป็นท้าวพกาพรหมบนสวรรค์ ส่วนไข่ 5 ฟอง ก็ถูกแม่ไก่ แม่นาค แม่เต่า แม่โค และแม่ราชสีห์ (หรือบางตำราว่าคนซักผ้านำเอาไปเลี้ยง) เอาไข่ไปฟักตัวละฟอง พอโตขึ้นต่างก็ออกบวชเป็นฤาษีอยู่ในป่า วันหนึ่งฤาษีทั้ง 5 มาพบกัน ต่างก็ถามถึงความเป็นมาของกันและกัน แต่ก็ไม่มีใครรู้จักแม่ที่แท้จริงของตนเลย จึงพากันอธิษฐานขอให้ได้พบแม่ของตนร้อนถึงท้าวพกาพรหมต้องลงมาพบเล่าเรื่องอดีตให้ฟังและบอกว่า ถ้าคิดถึงแม่ให้เอาด้ายดิบทำเป็นรูปตีนกาแล้วจุดไฟในประทีปในวันยี่เพง คือวันเพ็ญเดือน 12 
จากเรื่องเล่าดังกล่าวจึงมีการบูชาประทีปในฤดูเทศกาลเดือนยี่เป็ง ชาวบ้านจะนำผางประทีปไปจุดตามวัดและฟังพระธรรมเทศนาอานิสงส์ และยีงมีการตามประทีปและจุดบูชาตามรอบรั้วบ้าน หัวบันไดบ้าน บ่อน้ำ ครัวไฟ โดยกำหนดว่าพอพระเริ่มเทศน์ธัมม์ หรือคัมภีร์อานิสงส์ผางประทีป ก็จะจุดประทีปที่บ้านของตนขึ้นพร้อมกัน
ในพิธีสืบชะตาเมืองเชียงใหม่ กล่างถึงการจุดผางประทีปจำนวน 1,000 ดวง ใช้ประกอบพิธีกรรมดังกล่าวเพื่อสืบอายุเมืองและต้องการให้บ้านเมืองประสบความเจริญรุ่งเรือง เพื่อให้เกิดความสวัสดีมงคลโดยทั่วกัน                                                                

(ข้อมูลจากสารานุกรมไทยภาคเหนือ เล่ม 8 หน้า4072-4075)