23 กรกฎาคม 2563
3k
Share on
 

ความหมายเเละประเภทของเทียนล้านนา

 

เทียน ในแง่ทั่วไปแล้วมักหมายถึงเทียนขี้ผึ้งซึ่งเป็นเครื่องตามไฟที่ฟั่นหรือหล่อด้วยขี้ผึ้งหรือไข มีไส้อยู่ตรงใจกลาง มีลักษณะเป็นแท่ง เทียนขี้ผึ้งในล้านนาหมายถึง เทียนที่สีขึ้นรูปด้วยขี้ผึ้งมีด้ายดิบเป็นไส้ แบ่งตามน้ำหนักและเรียกชื่อตามประโยชน์วิธีใช้ เช่นเทียนเหล้มบาท เทียนเหล้มเฟื้อง เทียนค่าติง เทียนเงิน เทียนฅำ เทียนส่งเคราะห์-รับโชค เทียนกลาง เทียนมงคลซ้าย เทียนมงคลขวา เทียนพรรษา เป็นต้น โดยส่วนใหญ่มักใช้ประกอบพิธีกรรมต่างๆ ตามความเชื่อและศาสนา

วิธีทำเทียนขี้ผึ้ง แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

1.การหล่อเทียน โดยใช้เป้าหลอมหรือกระบอกไม้ไผ่ เช่นเทียนพรรษา

2.การสีเทียนด้วยมือ เรียกว่า การฝั้นเทียน หรือ สีเทียน (อ่านว่า “สีเตียน”)

อุปกรณ์ที่ใช้

1.ขี้ผึ้งแท้ หรือขี้ผึ้งผสม ซึ่งมีขายเป็นแผ่นๆ หรือขี้ผึ้งที่ได้จากขี้ผึ้ง นำมาต้ม แล้วคลึงให้เป็นแผ่น แบ่งตามขนาดที่ต้องการใช้ เช่น สลึง เฟื้อง หรือตั้งแต่ 1,2,5,10,300,500 บาท

2.ตั่ง หรือ “ค่อมคะลิก” (ลักษณะคล้ายม้านั่งขนาดเล็ก) ใช้เป็นแท่นสำหรับคลึงเทียน

3.เส้นด้ายดิบ จำนวน 9-27 เส้น หรือเท่าจำนวนอายุ มีขนาดยาวตามความต้องการ

ขั้นตอนวิธีทำ

1.นำชิ้นขี้ผึ้งแท้หรือขี้ผึ้งผสมมาตากแดด ต้มหรือผิงไฟ เพื่อให้ขี้ผึ้งอ่อนตัว แล้วจึงนำมาคลึงหรือแผ่ให้เป็นแผ่นตามขนาดที่ต้องการ

2.นำเส้นด้ายดิบจำนวน ตั้งแต่ 9-27 เส้น ขนาดยาวตั้งแต่ 15-190 เซนติเมตร (ตามขนาดของเทียน) เป็นไส้กลาง

3.สีขี้ผึ้งบนตั่ง หรือแท่นที่รองรับไม้กระดานตามสะดวก ให้ได้รูปร่างเป็นเทียนตามขนาดที่ต้องการใช้ ถ้าเป็นเทียนขนาดใหญ่ เช่น เทียนพรรษา ใช้เป้าหลอม หรือกระบอกไม้ไผ่ผ่าซีกนำมาประกบกัน 

ชื่อเรียกและประโยชน์ใช้

1.เทียนใช้จุดบูชาพระ เป็นเทียนที่มีขนาดแตกต่างกันไปตามขนาดลักษณะการใช้งาน ซึ่งอาจใช้บูชาพระในพีธีการทั่วไป หรือใช้ประกอบเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องคารวะ มีชื่อเรียกต่างๆกัน เช่น เทียนเหล้มบาท เทียนเหล้มเฟื้อง เทียนคู่ เทียนกลาง เหลียนเหล้มหน้อย

1.1 เทียนเหล้มบาท คือเทียนที่มีน้ำหนัก 1 บาท ใช้ประกอบพิธีกรรมต่างๆ เช่น ใช้ทำเทียนน้ำมนต์ในงานมงคล,พิธีขึ้นครู(ไหว้ครู)

- เทียนน้ำมนต์ หนัก 6 สลึง ถึง 1 บาท

- เทียนเงินเทียนทอง หนักแท่งละ 2 บาท

พิธีตั้งศาลพระภูมิ จะใช้

  • เทียนน้ำมนต์ หนัก 4 บาท ไส้ 12 เส้น 1 แท่ง เทียนบูชาทิศ 8
  • ใช้เทียนขี้ผึ้ง หนัก 1 บาท ไส้ 12 เส้น เป็นต้น

1.2 เทียนคู่ (อ่าน“เตียนกู้”) คือ เทียนที่มีขนาดเล็กกว่าเทียนเหล้มเฟื้อง ในพิธีงานแต่งงานทางเหนือ มีการไหว้บอกผีปู่ย่าทางตระกูลฝ่ายหญิง จะใช้เทียนประกอบพิธีเป็นจำนวนคู่ ประกอบด้วย หมากพลู โดยใช้ครั้งละ 2 แท่ง ใส่สวยดอก คือ กรวยใบตอง บรรจุข้าวตอก ดอกไม้ ธูป เทียน จัดเป็นเครื่องนำสักการะ เช่น ต้องการจำนวน 24 สวย หรือ 24 กรวย ก็ใช้พลู 4 ใบ หมากสาย 4 ท่อน เทียน 2 คู่ แท่ง ต่อ 1 สวยดอก

1.3 เทียนเหล้มเฟื้อง คือ เทียนที่มีน้ำหนัก 1 เฟื้อง ประโยชน์ใช้เช่นเดียวกับเทียนเหล้มบาท มักใช้ประกอบสวยดอกไม้

1.4 เทียนกลาง (อ่าน “เตียนก๋าง”) คือเทียนที่มีขนาดย่อมลงไป ใช้ประกอบพิธีกรรมต่างๆ เช่น พิธีไหว้ศาลพระภูมิเจ้าที่ พิธีทำบุญสะเดาะเคราะห์ในวันปากปี (ตรงกับวันที่ 16 เมษายนของทุกปี) ชาวบ้านจะใช้เทียนจุดบูชาหน้าพระพุทธรูปเท่ากับจำนวนคนในบ้าน เป็นต้น  

1.5 เทียนหน้อย (อ่าน “เตียนหน้อย”) เป็นเทียนที่มีขนาดเล็กที่ใช้ประกอบพิธีที่ต้องใช้เทียนจำนวนมาก เช่นพิธีทำบุญสืบชะตา มักใช้เทียนจำนวนมาก เช่น พิธีทำบุญสืบชะตา มักใช้เทียนจำนวน 109 แท่ง พิธีไหว้ผีปู่ย่า ( เดือน9 ) มีการฟ้อนผีมด ก็ใช้เทียนเหล้มหน้อยประกอบพิธีหรือวันพระ พระภิกษุสงฆ์ลงอุโบสถ ก็ใช้เทียนขนาดกลาง หรือขนาดเล็กประกอบพีธีจุดบูชาพระ

2.เทียนค่าติง (อ่าน “เตียนก้าคิง”) คือเทียนที่มีไส้ทำด้วยเส้นด้ายจำนวนเท่าอายุเจ้าภาพงาน โดยเพิ่มจำนวนมากกว่าอายุ 1 เส้น เช่น ถ้าอายุ 72 ปี ก็ใช้เส้นด้ายจำนวน 73 เส้น มีความยาวเท่าความสูงของเจ้าภาพวัด ตั้งแต่ไรผมถึงฝ่าเท้า ใช้จุดพิธีงานทำบุญสืบชะตาอายุ หรือทำบุญขึ้นบ้านใหม่ เนื่องจากเทียนชนิดนี้มีขนาดยาวเวลาจุดจึงต้องพาดเทียนไว้กับร่องของก้านกล้วย (ในกรณีที่ไม่อาจทำเทียนค่าติงได้ อาจอนุโลมให้ใช้สีสายค่าติง คือด้ายที่มีจำนวนและขนาดที่จะใช้เป็นไส้เทียนชุบน้ำมันซึ่งเวลาจุดนิยมพาดไว้บนราวแล้วจุดจากด้านล่างขึ้นไป)

3.เทียนจังกอร (อ่าน “เตียนจั๋งก๋อน”) คือเทียนที่มีขนาดเท่ากับเทียนเล่มบาท ใช้จุดที่เมรุหรือกองฟอนเวลาเผา ศพคนตายจำนวน จำนวน 6 เล่ม โดยใช้เป็นปริศนาธรรมเพื่อเผาไฟกิเลส ได้แก่ โลภะ โทสะ โมหะ ราคะ ตัณหา กิเลส

4.เทียนจาละเม็ด คือ เทียนที่มีน้ำหนักเท่ากับเทียนเล่มบาท ใช้ตามไว้เหนือศีรษะผู้ตาย ถือว่าเป็นไฟประจำชีวิต ใส่เชิงรองไว้จุดเมื่อสิ้นใจ ปัจจุบันมักใช้ตะเกียงน้ำมันแทน

5.เทียนลดเคราะห์ เทียนปูชารับโชค เป็นเทียนที่ทำขึ้น โดยจุดบูชาเพื่อให้อยู่ดีมีสุข หรือทำมาค้าขายได้คล่องมักใช้ด้ายสายสิญจน์จำนวน 27 เส้น เป็นไส้กลาง เพื่อลดเคราะห์จำนวน 27 ตัว ตามจำนวนดาวฤกษ์ 27 กลุ่ม

6.เทียนทำให้คนรักใคร่ เกลียดชัง หรือทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน

เป็นเทียนที่ทำขึ้น โดยใช้เวทมนตร์คาถาอาคมประกอบ โดยผู้ทำจะต้องเป็นผู้ที่รู้เวทมนตร์คาถาอาคม เรียกว่า มนต์ขาว หรือมนต์ดำ ดังปรากฎในพับหนังสา (สมุดข่อยหรือใบลาน)

เทียนประเภทที่ 5-6 มีวิธีการทำที่ยุ่งยากกว่าเทียนขี้ผึ้งธรรมดา คือ ผู้ทำจะต้องเป็นผู้ที่รู้เวทมนตร์คาถา  ก่อนจะทำจะต้องขึ้นขันตั้งหรือทำพิธีบูชาครูก่อน แล้วนำกระดาษสามาเขียนอักขรคาถาหรือยันต์เวทมนตร์ตามที่ได้ศึกษามาแต่โบราณกาลดังปรากฎในตำราที่เรียกว่า พับหนังสา (อ่าน “ปั๊บหนังสา”) ดังกล่าว แล้วตัดตามขนาดของยันต์ นำด้ายสายสิญจน์ตามขนาดต้องการมาพันยันต์ดังกล่าวให้แน่น แล้วใช้ด้ายพันชั้นนอกอีกชั้น แล้วจึงหุ้มด้วยขี้ผึ้งนำมาสีหรือฟั่นให้กลมกลึง ผู้ที่จุดเทียนมักใช้จุดบูชาหน้าพระ หรือบนหัวนอนเป็นเทียนที่ใช้ลดเคราะห์สืบชะตารับโชค

ส่วนเทียนที่ทำให้คนรัก หลง หรือ โกรธเกลียดมุ่งทำร้ายกัน มีวิธีการทำเช่นเดียวกับเทียนลดเคราะห์รับโชค แต่จะเปลี่ยนไส้เทียนจากด้ายสายสิญจน์ เป็นชายเสื้อของผู้ที่จะกระทำต่อกัน หรืออาจใช้เส้นผม หรือด้ายตราสังศพแทนก็ได้ สถานที่ที่ใช้จุดอาจเป็นป่าช้า น้ำบ่อร้างทางสามแพร่ง ใต้บันได ในหลุมดิน เป็นต้น ขณะที่จุดจะต้องมีเครื่องสังเวย ซึ่งประกอบด้วยกระทงข้าวปลาอาหารขนมวางไว้ด้วย

          การทำเทียนประเภทที่ใช้เวทมนตร์คาถาจะได้ผลตามต้องการหรือไม่นั้น อยู่ที่กำลังใจและกระแสจิตของแต่ละคน แต่อย่างไรก็ตามผลที่ได้ ก็คือ การมีกำลังใจที่จะทำอะไรต่อไป

7.เทียนพรรษา หรือ เทียนวัสสา เป็นเทียนขี้ผึ้งที่มีขนาดใหญ่วิธีการทำ โดยใช้เป้าหลอมหรือเทียนใส่กระบอกไม้ไผ่ ประโยชน์ใช้เพื่อจุดบูชาพระพุทธรูปในฤดูกาลเข้าพรรษา

8.เทียนที่ใช้ประกอบพิธีการพุทธาภิเษก หรืองานสมโภชพระพุทธรูป เทียนที่ใช้จุดในพิธีการพุทธาภิเษกพระมีชื่อเรียกต่างๆกัน ได้แก่

8.1 เทียนชัย เป็นเทียนที่มีขนาดใหญ่ สูงประมาณ 156-190 เซนติเมตร ใช้จุดบูชาที่หน้าพระประธาน

8.2 เทียนมงคลซ้าย

8.3 เทียนมงคลขวา

8.4 เทียนโลกุตตร ใช้จำนวน 9 เล่ม จุดบูชาพระรัตนตรัย

8.5 เทียนวิปัสสี

8.6 เทียนส่องญาณ

เทียนทั้ง 6 ชนิด ใช้สำหรับพิธีการพุทธาภิเษกหรือสมโภช สูง 1 ศอก ของเจ้าภาพงาน หรือรอบศีรษะพระพุทธรูป คือประมาณ 50 เซนติเมตร และเทียนในพิธีดังกล่าว มักทำด้วยการฟั่นเทียนหรือสีเทียนด้วยมือ

 

เทียนธูป (อ่าน“เตียนทุบ”)

เทียนธูป ในความหมายแบบล้านนายุคก่อนหมายถึงธูป ซึ่งทำโดยใช้ไม้หอมหรือเปลือกไม้หอมหรือดอกไม้แห้ง มาป่นเป็นผง แล้วห่อด้วยกระดาษสีเดียวหรือคาดด้วยกระดาษสีอื่นวนโดยรอบจากส่วนโคนจนถึงปลาย ยาวประมาณ 1 คืบ โตประมาณครึ่งเซนติเมตร ส่วนปลายมักใช้กรรไกรตัดกระดาษหุ้มให้เป็นพู่ ใช้ในการประกอบพิธีต่างๆ รวมไปถึงการจุดบูชาพระด้วย ต่อมาภายหลังนิยมใช้ธูปจีนในการจุดบูชาพระ ทำให้เทียนธูปหรือธูปที่ทำด้วยเปลือกไม้หอมป่นหรือห่อด้วยกระดาษเหลือบทบาทเพียงส่วนหนึ่งของเครื่องบูชาในเทศกาลสงกรานต์เท่านั้น

ในการปรากฎในชุดเครื่องบูชาที่กล่าวเป็นภาษาโวหารปนภาษาบาลีแล้ว มักจะว่า “ธูปปุปฺผาลาชา ดวงดอก เข้าตอกดอกไม้แลลำเทียน” คือ ธูป ดอกไม้ ข้าวตอก และเทียน พบว่ามีการเรียกชื่อว่า เทียนหางหนู ธุปลม และธูปรม อีกด้วย ส่วนธูปอย่างธูปจีนที่ใช้ผงดอกไม้ หอมคลึงติดกับก้านไม้นั้น ทางล้านนายุคก่อนเรียก เทียนแส้ (อ่าน “เตียนแส้”)

เทียนอังกอร (อ่าน “เตียนจั๋งก๋อน”)

เทียนจังกอร คือเทียนขี้ผึ้งมีไส้ทำด้วยด้ายแบบท้องถิ่น ตัวเทียนมีขนาดยาวประมาณ 1 คืบ เล็กประมาณครึ่งเซนติเมตร จำนวน 12 แท่ง ใช้จุดเมื่อหามศพไปถึงป่าช้าแล้ว โดยจุดบริเวณหัวไม้คานหามศพรอบด้าน เมื่อจุดเทียนครบทุกแท่งแล้วจึงวางผ้าบังสุกุลและนิมนต์พระสงฆ์พิจารณาผ้าบังสุกุลนั้นแล้วจึงอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ตายก่อนที่จะประชุมเพลิง