15 พฤษภาคม 2563
3k
Share on
 

ประเพณีเข้าอินทขีล

 

         ในช่วงวันแรม ๑๓ ค่ำ เดือน ๘ เหนือ ถึงวันขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๙ เหนือ ของทุกๆปี ชาวล้านนาจะมีพิธีบูชาเสาอินทขีลที่ประดิษฐาน ณ วิหารจตุรมุข ที่ตั้งอยู่ภายในวัดเจดีย์หลวงวรวิหาร จังหวัดเชียงใหม่ ถือเป็นประเพณีที่เกี่ยวกับการบูชาเสาหลักเมืองอันเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวอาณาประชาราษฎร์ตลอดจนเป็นการบูชาเทพยดาอารักษ์ เสื้อบ้านเสื้อเมือง เพื่อความเป็นสิริมงคล และความอุดมสมบูรณ์ในเรือกสวนไร่นา เพราะอยู่ในช่วงต้นฤดูกาลของการเพาะปลูก

        ประเพณีนี้จะมีการนำน้ำส้มป่อย ดอกไม้ธูปเทียนไปบูชาเสาอิทขีล นอกจากนี้ยังมีการสรงน้ำพระเจ้าฝนแสนห่า สรงน้ำพระเจดีย์ ใส่บาตรพระประจำวันเกิดและถือโอกาสทำบุญบริจาคทานตามกุศลเจตนาอีกด้วย ดังนั้น ประเพณีบูชาเสาอินทขีลจึงเป็นการหลอมรวมเอาความเชื่อดั้งเดิมกับวัฒนธรรมของพระพุทธศาสนาเข้าด้วยกันอย่างลงตัว

        เสาอินทขีล เป็นเสาปูนปั้นตั้งอยู่กลางวิหารอินทขีลในวัดเจดีย์หลวงวรวิหาร แต่เดิมมีเฉพาะเสาล้วน ๆ ต่อมามีการประดับกระจกตกแต่งให้สวยงามโดยมีครูบาอภิชัยขาวปีเป็นประธาน พร้อมนั้นพลตรีเจ้าราชบุตร ได้นำพระพุทธรูปปางขอฝน (พระคันธาราษฎร์) ขึ้นประดิษฐานบนเสานั้น แต่ปัจจุบันที่เห็นเป็นพระพุทธรูปปางรำพึง

          กล่าวถึงเสาอินทขีล ในความเป็นจริงแล้วมิได้มีเฉพาะเสาอินทขีลที่วัดเจดีย์หลวงเชียงใหม่เท่านั้น หากแต่ยังมีที่ประตูเมืองทั้งห้าของเมืองเชียงใหม่ รวมทั้งแจ่งเมืองทั้งสี่ด้วย ทั้งนี้จากการศึกษาของศาสตราจารย์ ดร.อุดม  รุ่งเรืองศรี  พบว่าทุกประตูเมืองมีเสาอินทขีล ยกเว้นประตูท่าแพซึ่งมีการเคลื่อนย้ายไป (น่าจะเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติเชียงใหม่) ในครั้งที่มีการสร้างประตูท่าแพขึ้นใหม่ ส่วนที่แจ่งต่าง ๆ ที่พบแล้วมีปรากฏที่แจ่งหัวรินและแจ่งกระต๊ำ

          อย่างไรก็ตาม เสาอินทขีลที่เป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปได้แก่ เสาอินทขีลที่ตั้งอยู่วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร ซึ่งมีการเขียนตำนานเล่าความเป็นมาว่าเดิมเป็นเสาหินที่อยู่บนสวรรค์ พระอินทร์สั่งให้กุมภัณฑ์สองตนนำมาตั้งไว้ในเมืองนพบุรี(เชียงใหม่) เพื่อบันดาลโชคลาภและป้องกันภัย ต่อมาผู้คนกระทำการอันเป็นการไม่ให้ความเคารพต่าง ๆ นานา กุมภัณฑ์ไม่พอใจจึงหามกลับเมืองสวรรค์ เมื่อชาวเมืองเดือดร้อนก็ไปขอพระอินทร์อีก คราวนี้พระอินทร์ให้ชาวเมืองก่อเองโดยให้หล่ออ่างขาง (กะทะ) ขนาดใหญ่ แล้วให้หล่อรูปคนให้มากพอ “ร้อยเอ็ดเจ็ดภาษา” หล่อรูปสัตว์นานาอาทิ ช้าง ม้า  วัว  ควาย  เป็ด  ไก่   หมู  หมา  แพะ  แกะ  กวาง  ลิง  รวมทั้งปลา  ปู  หอย  กุ้ง  จระเข้  มังกร  ตลอดจนตะขาบ  แมลงป่อง  ลงใส่ในอ่างข้างจากนั้นให้ขุดดินฝังอ่างขางนั้นลึกลงดินถึง  ๙  ศอก แล้วก่อรูปเสาอินทขีลบนดินนั้น เพื่อไว้เป็นที่สักการะบูชาแก่ชาวเมือง

          ในส่วนของประวัติศาสตร์ เมื่อสืบค้นดูพบเรื่องของอินทขีลในเอกสารโบราณ โดยเฉพาะตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ฉบับวัดพระงามผูกที่  ๗  และผูกที่  ๘  โดยข้อความตอนหนึ่งในผูกที่  ๗  กล่าวถึงการสร้างพระวิหารอินทขีล  ดังความว่า  “…เถิงศักราช  ๑๑๕๖  ตัว ปีกาบยี (พ.ศ. ๒๓๓๗  ปีขาล ฉศก) เดือน  ๘  เพ็ง (วันเพ็ญเดือน  ๖  ของภาคกลาง) เม็งวัน  ๑  (อาทิตย์)  ปฐมมูลศรัทธาเจ้ามหาอุปราชาได้สร้างพระวิหารวัดอินทขีล”  และข้อความอีกตอนหนึ่งในผูกเดียวกันว่า (ศักราช  ๑๑๖๖  คือ  พ.ศ.  ๒๓๔๗) … อยู่เถิงเดือน  ๕  เพง (วันเพ็ญเดือน  ๓  ของภาคกลาง) เม็งวัน  ๕  (พฤหัสบดี) ปฐมมหามูลสัทธาสมเด็จพระเป็นเจ้าเชียงใหม่องค์เป็นพระวรราชเชฎฐาธิราชะได้สร้างอารามวัดอินทขีล” ในช่วง พ.ศ. ๒๓๓๗ และพ.ศ. ๒๓๔๗  เป็นช่วงสมัยของพระเจ้ากาวิละ และหลังจากนั้น ในผูกที่  ๘  มีข้อความกล่าวถึงการยกมณฑปหออินทขีลในพ.ศ. ๒๓๖๐  ว่า  (ศักราช  ๑๑๗๙)  “…ยามนั้นยกมัณฑัปปะหออินทขีล แลแรกก่อสร้างยังเจติยะธาตุเจ้ายังวัดพระสิงห์”  ซึ่งพ.ศ.นี้ เป็นช่วงหลังสมัยพระเจ้ากาวิละเพราะพระองค์สวรรคตปี พ.ศ. ๒๓๕๘

          ประเด็นในความเป็นมายังมีรายละเอียดซับซ้อนอีกมาก ซึ่งคงต้องศึกษาอย่างรอบคอบต่อไป แต่ประเด็นที่น่าสนใจยิ่ง  สิ่งที่โบราณท่านสะท้อนความคิดออกไว้เป็นที่ชัดเจนว่า บุคคลไม่ว่าชาติใด ภพใด สัตว์ทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นสัตว์บกสัตว์น้ำหรือแมลงที่อาศัยอยู่ใน อ่างขาง คือแผ่นดินที่มีทิวเขาล้อมรอบแห่งนี้ย่อมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทั้งสิ้น เสาอินทขีลที่สร้างขึ้นนั้นมิได้หมายถึงเสาอย่างที่อยู่กำแพงเมือง แต่เป็นเสาแห่งปฏิญญาคือ “ความมั่นคง”  ทุกชีวิตไม่ว่าจะมาจากไหนจะต้องสามัคคีเป็นหนึ่งเดียวในเมืองนี้ ซึ่งทุก ๆ ปี ทุกคนทุกหมู่เหล่าจะมาทำพิธีเพื่อแสดงถึงสามัคคีธรรม ณ ข่วงอินทขีล ที่มีเสาอินทขีล เสาแห่งปฏิญญาฟ้าเวียงพิงค์

 

สนั่น ธรรมธิ

สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่