16 เมษายน 2563
3k
Share on
 

ความหมายของวันพญาวันในช่วงเทศกาลสงกรานต์

 

วันพญาวัน

วันในความหมายของการนับนั้น หมายถึงเวลาตั้งแต่รุ่งเช้าของวันหนึ่งไปถึงรุ่งเช้าอีกวันหนึ่ง พญาหมายถึง ความเป็นใหญ่ คำว่า พญาวันได้แก่วันที่เป็นใหญ่แก่วันทั้งหลาย หมายเอา วันเถลิงศกเริ่มต้นจุลศักราชใหม่ ชาวล้านนาใช้จุลศักราชมาแต่เดิม จึงยึดถึอว่าวันพระญาวัน เป็นวันขึ้นปีใหม่

ประเพณีที่ปฏิบัติในวันดังกล่าว เริ่มตั้งแต่เช้าตรู่ชาวบ้านจะนำสำรับอาหารพร้อมดอกไม้ธูปเทียนไปทำบุญที่วัด ที่เรียกกันว่า ตานขันข้าวเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ ผีตายเก่าเน่าเมินคือวิญญาณของญาติผู้ล่วงลับ หลังจากนั้นจะนำสำรับอาหารอีกส่วนหนึ่งในลักษณะเดียวกันไปมอบแก่บิดามารดา ผู้เฒ่าผู้แก่ด้วยความเคารพนับถือเสมือนถวายทานแด่พระสงฆ์ การกระทำเช่นนี้เรียกกันว่า ตานขันข้าวคนเถ้า" ตอนสาย จะมีการนำ ตุงซึ่งเตรียมไว้แล้วไปปักเจดีย์ทรายที่วัด โดยเชื่อว่าจะมีอานิสงส์สามารถช่วยดวงวิญญาณที่ตกนรกให้พ้นจากขุมนรกได้ โดยที่ผู้ตายจะได้อาศัยเกาะชายตุงขึ้นจากนรกภูมิเพื่อไปเกิดในสุคติภพ

ในด้านผลบุญแห่งการถวายตุง ปรากฏในคัมภีร์ชื่อ ธัมม์อานิสงส์สร้างตุงว่ามีอานิสงส์มากมาย อาทิ การไปเกิดในภพภูมิที่ดี มียศศักดิ์ ข้าวของสมบัติและข้าทาสบริวาร นอกจากนี้ยังมีความเชื่อว่าหากตุงที่ถวายปลิวสะบัดไปทิศทางใด ก็จะได้อานิสงส์แตกต่างกันไป กล่าวคือ ถ้าตุงปลิวไปทิศตะวันออกเฉียงใต้ จะได้เกิดเป็นเศรษฐีมีบริวารมากมาย ได้สมบัติเสมอแก้วเจ็ดประการ ได้นางแก้ว หม้อแก้ว ก้อนเส้าแก้ว (ที่รองรับภาชนะสำหรับหุงต้ม) ไหข้าวแก้ว (ไหบรรจุข้าวเหนียวสำหรับเวลานึ่ง) ปราสาทแก้ว เวียงแก้วและบุตรแก้ว หากตุงปลิวไปทิศใต้จะได้เกิดเป็นผู้มีอำนาจวาสนามีจตุรงคเสนาเป็นบริวาร ปลิวไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้จะเกิดเป็นพราหมณ์ผู้ประเสริฐ ปลิวไปทิศตะวันตกจะได้เกิดเป็นกษัตริย์อันเป็นที่รักของคนทั้งปวง ปลิวไปทิศเหนือจะได้เกิดเป็นผู้นำที่ประเสริฐพรั่งพร้อมด้วยเสนาอามาตย์ข้าทาสบริวาร และหากปลิวไปทิศอิสานคือตะวันออกเฉียงเหนือ จะมีผลานิสงส์มหาศาล ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ในภพภูมิภายหน้า

นอกจากการถวายตุงแล้ว บางแห่งอาจมีการถวาย ไม้ค้ำสะหรีคือไม้ง่ามสำหรับค้ำต้นโพธิ์ โดยถือคติว่าเป็นการถวายเพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งการค้ำชูพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืนนานสืบไปชั่วอนันตกาล อีกทั้งเชื่อว่าจะมีผลด้านการค้ำหนุนให้ชีวิตประสบแต่ความรุ่งโรจน์ตลอดอายุขัย

ช่วงบ่ายของวันนี้ จะเป็นการนำน้ำส้มป่อยเจือด้วยน้ำอบน้ำหอมไป อาบองค์สรงสักการะพระพุทธรูป พระธาตุเจดีย์ ตลอดจนสถูปอัฐิบรรพชนและขยายผลทางกิจกรรมไปสู่การ สักการะสระเกล้าดำหัวผู้มีพระคุณ ผู้ทรงไว้ซึ่งวัยวุฒิ คุณวุฒิ และชาติวุฒิที่ตนเคารพนับถือ ทั้งนี้อาจไปด้วยตนเอง หรือไปพร้อมกับครอบครัวหรือหมู่คณะ ตามสภาวะอันควร

อนึ่งในด้านความเชื่อ ชาวล้านนาเชื่อว่า วันพญาวันเป็นเจ้าแห่งวัน ได้ยึดถือว่าเป็นวันที่ดีที่สุดในรอบปี ดังนั้น จึงนิยมประกอบพิธีกรรมอันเป็นมงคลต่าง ๆ เช่น แรกเริ่มร่ำเรียนศาสตร์ศิลป์ต่างๆ สักยันต์ ขึ้นบ้านใหม่ บรรพชาอุปสมบท ยกเสามงคล เป็นต้น และที่เหมือนกันโดยทั่วไปคือร่วมกันทำบุญในวันที่ดีที่สุดนี้

วันพญาวัน ในยุคสมัยก่อนไม่มีความคลาดเคลื่อน เพราะเชื่อตามการคำนวณแบบโบราณบนฐานหลักปฏิทินที่ยึดตามคัมภีร์สุริยยาตร์ ภายหลังทางราชการกำหนดเอาวันที่ ๑๓ ๑๔ และ ๑๕ เมษายน ของทุกปี เป็นวันสงกรานต์ คนทั่วไปจึงเข้าใจกันว่า วันพญาวัน คือวันที่ ๑๕ เมษายนเท่านั้น ซึ่งในความเป็นจริงไม่ได้ตรงกับวันที่ ๑๕ เสมอไป

สนั่น ธรรมธิ
สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่