16 เมษายน 2563
3k
Share on
 

ประเพณีเดือน ๗ ต้อนรับปีใหม่ล้านนา

 

           เดือน ๗ ของล้านนาเป็นเดือนแห่งการล่วงเลยของปีเก่าและการมาเยือนของปีใหม่ ในสมัยโบราณนั้นล้านนาประเทศ ถือเอาวันสงกรานต์เป็นวันเปลี่ยนศักราชใหม่ของประเพณีสงกรานต์  จึงถือเป็นงานประเพณีเฉลิมฉลองส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ การกำหนดวันสงกรานต์ในสมัยปัจจุบันถือกำหนดวันที่ ๑๓ เมษายนของทุกๆ ปี แต่เดิมนั้นต้องคำนวณตามหลักโหราศาสตร์ก่อน ซึ่งอาจไม่ตรงกับวันที่ ๑๓ เมษายนก็เป็นได้ อย่างเช่นปีนี้ วันสงกรานต์จะตรงกับวันที่ ๑๔ เมษายน สำหรับกิจกรรมในช่วงเทศกาล (๑๔ – ๑๖) วันแรกเป็นวันส่งท้ายปีเก่า ล้านนาเรียกว่า “วันสังขานต์ล่อง” วันนี้จะมีการปัดกวาดเช็ดถูบ้านเรือนให้สะอาดหมดจดทุกหนแห่งแล้วอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาดผ่องใส มีการปล่อยสัตว์ นก ปลา เต่า หอย เป็นต้น นับว่าเป็นการสะเดาะเคราะห์  นอกจากนี้ยังมีการนำเอาเครื่องรางของขลังต่างๆ มาชำระล้างด้วยน้ำขมิ้นส้มป่อย ในส่วนของชุมชนก็มีการนำพระพุทธรูปออกแห่ให้ประชาชนได้มีโอกาสสรงน้ำร่วมกันด้วย วันที่สองเป็น “วันเน่า” วันนี้ถือเป็นวันหัวเลี้ยวหัวต่อระหว่างปีเก่ากับปีใหม่มีกิจกรรมสำคัญคือ จัดเตรียมสิ่งของไว้ทำบุญในวันรุ่งขึ้นเรียกว่า “วันดา” ของที่จัดเตรียมนอกจากเป็นเครื่องไทยทานและยังมีตุงสำหรับปักเจดีย์ทรายรวมไปถึงไม้ค้ำสรี คือ ไม้ง่ามสำหรับค้ำต้นโพธิ์และสิ่งของสำหรับเป็นเครื่องสักการะผู้ใหญ่ในวันต่อไป วันที่สามเป็น “วันเถลิงศก” เป็นวันขึ้นปีใหม่เปลี่ยนศักราชใหม่ ล้านนาเรียกว่า “วันพระญาวัน” ตอนเช้ามีการทำบุญที่วัดเพื่อเป็น  สิริมงคลและอุทิศส่วนกุศลไปหาผู้ล่วงลับ จากนั้นจะจัดเตรียมสำรับอาหารไปมอบพร้อมรับพรจากผู้เฒ่าผู้แก่ที่เคารพนับถือ ตอนสายจะเอาตุงไปปักที่เจดีย์ทรายที่วัด เอาน้ำขมิ้นส้มป่อยไปสรงน้ำพระพุทธรูป สถูปเจดีย์ บางแห่งมีการถวายไม้ค้ำโพธิ์ด้วย ช่วงบ่ายมีการนำสิ่งของไปมอบให้ผู้อาวุโส เช่น ปู่ ย่า ตา ยาย บิดา มารดา ครูอาจารย์ เป็นการขอขมาในรอบปีเรียกว่า “การดำหัว” ตลอดระยะเวลาในช่วงสงกรานต์จะมีการรดน้ำกันอย่างสนุกสนานจึงถือเป็นงานรื่นเริงที่ประชาชนมีความสุข

          ประเพณีสงกรานต์เป็นประเพณีที่งดงาม บรรยากาศมีแต่การให้อภัย ทุกคนมอบสิ่งที่ดีงามผ่านสายน้ำที่รินหลั่ง ฟังคำพรที่อ่อนเอื้อพักเพื้อด้วยสายธารแห่งไมตรี จึงถือเป็นประเพณีที่สามารถจรรโลงสังคมให้ร่มเย็นสงบสุขทุกยุคและกาลสมัย

 

สนั่น ธรรมธิ

สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่