16 เมษายน 2563
3k
Share on
 

ไปวัด

 

ชาวล้านนาในฐานะที่เป็นชาวพุทธ มีวัดในชุมชนเป็นศูนย์รวมจิตใจ และเป็นสถานที่ชำระกิเลส หรือสิ่งสกปรกที่รกเรื้ออยู่ในใจด้วยน้ำที่ใสสะอาดอันได้แก่ “น้ำพระธรรมคำสอน” ดังนั้นการไปวัดในโอกาสต่างๆ เช่นวันธรรมสวนะจึงถือว่าเป็นไปเพื่อ “อาบน้ำฟังธรรม” ซึ่งคนโบราณล้านนามักสั่งสอนกันว่า “น้ำวังลึกหื้อเอาขัดสี น้ำใสดีหื้อเอาซ่วยหน้า”

การชำระจิตใจนอกจากการใช้พระธรรมตลอดจนประกอบกิจกรรมอื่นๆ แล้ว ยังมีการทำบุญให้ทาน รักษาศีลและบำเพ็ญภาวนาเพื่อเป็นปัจจัยให้เกิดกุศลจิต และเนื่องจากวัดเป็นสาธารณสถานจึงมีธรรมเนียมปฏิบัติให้ถือเป็นบรรทัดฐานเดียวกันในเชิงพิธีกรรม ซึ่งบางอย่างหลายท้องที่อาจมีรายละเอียดผิดแผกแตกต่างกันไป ในที่นี้จะกล่าวถึงธรรมเนียมปฏิบัติโดยทั่วไป

ธรรมเนียมหรือข้อปฏิบัติอาจแบ่งได้เป็น  ๒  อย่าง อย่างหนึ่งเป็นการกระทำโดยตนเอง อีกอย่างหนึ่งจะกระทำร่วมกันโดยรวม

 

กระทำด้วยตนเอง

เริ่มตั้งแต่จัดเตรียมสักการะ เช่น ธูป  เทียน  ข้าวตอก  ดอกไม้ พร้อมของที่จะนำไปทำบุญ อาทิ อาหารคาวหวาน ขนมและผลไม้ เป็นต้น เมื่อไปถึงประตูวัด บางแห่งจะมีการทักทายเทวดาที่รักษาวัดว่า “อิมัสสมิง อาราเม เทวตา  วะสันตา สุขิตา โหตุ” จากนั้นจึงถอดรองเท้าแล้วถือเดินไปยังวิหาร วางรองเท้าไว้ในที่ซึ่งจัดไว้เป็นการเฉพาะหรือข้างบันไดขั้นต่ำสุด แล้วขึ้นสู่วิหารไป “นบพระไหว้ธรรม ด้วยที่ติดที่เท้าห้าแห่ง” คือกราบพระประธานที่แท่นบูชาในลักษณะเบญจางคประดิษฐ์ จากนั้นจึงนำธูปเทียนดอกไม้ไปบูชาพระประธาน และ ใส่ขันแก้วทั้งสาม ขันขอศีล และขันนำทาน ซึ่งแต่ละอย่างมีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังจะได้อธิบายโดยลำดับ ต่อไปนี้

 

การบูชาพระประธาน

หลังจากกราบพระประธานแล้ว จะเป็นการบูชาด้วยดอกไม้ธูปเทียน โดยจุดเทียนจำนวน ๓ เล่มและรวบข้าวตอกดอกไม้และธูปไว้ในมือที่อยู่ในลักษณะประณมไหว้ พร้อมกล่าวคำบูชาว่า “อัคคิพะหูบุปผัง ชิเน ทัตวา อภิรูโป มหาปัญโญ ทาเรนโต ปิฎะกัตตะยัง นิพพานัง ปะระมัง สุขัง” แล้วนำเครื่องสักการะไปวางที่แท่นบูชา นำเทียนไปติดในที่ที่จัดไว้ มีข้อสังเกตอย่างหนึ่ง คือ การบูชาพระของชาวล้านนาในสมัยโบราณไม่นิยมจุดธูป แต่ปัจจุบันมีการจุดธูปเพราะรับอิทธิพลมาจากไทยภาคอื่น

 

ใส่ขันแก้วทั้งสาม

          แก้วทั้งสาม ถ้าออกเสียงภาษาล้านนาจะเป็น “แก้วตังสาม” หมายถึง พระรัตนตรัย ส่วน “ขัน” หมายถึง พานขนาดใหญ่ โดยทั่วไปจะเป็นทรงสามเหลี่ยม จัดไว้สำหรับใส่ธูปเทียนดอกไม้บูชาพระพุทธพระธรรมและพระสงฆ์ ทุกคนที่ไปวัดหลังจากกราบและบูชาพระประธานแล้ว จะต้องใส่ขันแก้วทั้งสามก่อนและโดยธรรมเนียมปฏิบัติ คนแรกที่ใส่จะต้องเป็นผู้ชาย ซึ่งจะแบ่งธูปเทียนดอกไม้ เป็น  ๓  ชุด โดยใช้เทียน ๓ เล่ม ธูป ๒ ดอก ใส่ชุดละ  ๑  มุม ก่อนใส่จะต้องกล่าวคำอธิษฐานชุดที่หนึ่ง  ว่า “พุทโธ อะระหัง”  ชุดที่สองว่า “ธัมโม  ปัจจัตตัง”  และชุดที่สามว่า “สังโฆ ยะทิทัง”

 

ใส่ขันขอศีล

          ขันขอศีล คือ พานใส่ธูปเทียนดอกไม้ สำหรับประเคนพระสงฆ์ เพื่อขอรับศีล หลังจากใส่ขันแก้วทั้งสามแล้ว จะเป็นการใส่ธูปเทียนดอกไม้ในขันขอศีล ซึ่งจะใช้เทียน ๕ เล่ม ธูป ๕ ดอกเป็นลำดับต่อมา

 

ใส่ขันนำทาน

          ขันนำทาน คือ พานใส่ธูปเทียนดอกไม้สำหรับประเคนถวายแทนเครื่องไทยทานที่มีจำนวนมาก หรือไทยทานที่เป็นของมีน้ำหนักมากไม่สามารถยกประเคนได้ เมื่อเสร็จจากการใส่ขันขอศีล ทุกคนจะนำธูปเทียนดอกไม้โดยใส่เทียน ๓ เล่ม ธูป ๓ ดอกไม้ส่วนหนึ่งมาใส่ขันนำทาน

          เครื่องสักการะประเภทดอกไม้ธูปเทียน นอกจากจะนำไปบูชาพระประธาน ใส่ขันแก้วทั้งสาม ใส่ขันศีลและขันนำทานแล้ว บางคนอาจนำไปบูชาสิ่งอื่นๆ อีก เช่น บูชาต้นศรีมหาโพธิ์ บูชาพระธาตุเจดีย์ อนุสาวรีย์รูปเคารพ หออารักษ์ (ผีเสื้อวัด) เป็นต้น

          หลังจากเสร็จภาระเรื่องของธูปเทียนดอกไม้และการบูชาแล้ว กิจที่จะต้องทำด้วยตนเองอีกอย่างหนึ่ง คือ ฮอมน้ำหยาด และใส่บาตรฮอมบุญ

 

ฮอมน้ำหยาด

          น้ำหยาด คือ น้ำสำหรับกรวดอุทิศส่วนกุศลที่เตรียมมาจากบ้าน ฮอม คือการนำไป รวมกัน ไว้ในคนโทที่ทางวัดจัดเตรียมไว้ให้ ซึ่งเรียกว่า “น้ำต้นน้ำหยาด” สำหรับเป็นภาชนะรองรับน้ำหยาดที่ทุกคนจะนำมาเทรวมกัน เพื่อกรวดพร้อมกันอีกครั้งเมื่อถึงช่วงเวลา

 

ใส่บาตรฮอมบุญ

อาหาร ขนม หรือผลไม้ที่จัดเตรียมมาจากบ้าน ทางวัดจะจัดถ้วยชามไว้สำหรับใส่อาหาร พร้อมตั้งบาตรเรียงรายไว้สำหรับใส่ข้าว ทุกคนจะได้ใส่บาตรทำบุญร่วมกันเป็นการ “ฮอมบุญ” ในโอกาสเดียวกัน

 

การกระทำร่วมกันโดยรวม

          การไปวัดในช่วงต้นมีกิจกรรมที่ต้องปฏิบัติด้วยตนเองตั้งแต่กราบพระประธาน กระทั่งถึงใส่บาตรดังที่ได้กล่าวมา หากมีเวลาไม่มากอาจกลับบ้านก่อน แต่ถ้ามีเวลาอยู่ต่อก็จะมีกิจกรรมร่วมกับส่วนรวม ซึ่งกิจกรรมประกอบด้วยการไหว้พระ รับศีล กล่าวคำถวายทานและกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลหลังจากพระสงฆ์อนุโมทนาจบลง

          ชีวิตของชาวล้านนาเป็นชีวิตที่เรียบง่ายไม่เร่งรีบ การไปวัดส่วนใหญ่จะอยู่จนถึงพระสงฆ์อนุโมทนา แต่ปัจจุบันผู้คนมีชีวิตที่เร่งรีบ มักไปได้แค่ช่วงต้นเท่านั้น ไม่ทันได้รับพรจากพระสงฆ์ ก็ต้องลงจากวิหารเพื่อปฏิบัติงานอื่นต่อไป

 

สนั่น ธรรมธิ

สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่