15 เมษายน 2563
3k
Share on
 

ไทลื้อ

 

ไทลื้อ

          ชาวไทลื้อ ตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณตอนใต้ของจีน มีเมืองเชียงรุ่ง ในเขตสิบสองปันนา มณฑลยูนาน  เป็นศูนย์กลาง ชาวไทลื้อจึงมีประวัติศาสตร์ร่วมกับจีนมาเป็นเวลายาวนาน ในช่วงหลายร้อยปีที่ผ่านมามีกลุ่มชาวไทลื้อบางส่วนได้อพยพและถูกกวาดต้อนลงมาอยู่ทางตอนเหนือของพม่า  ตอนเหนือของลาว ตอนเหนือของเวียดนาม และทางภาคเหนือของประเทศไทย ในบริเวณจังหวัดเชียงใหม่  เชียงราย  ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ และน่าน เมื่อย้ายมาตั้งถิ่นฐานตามที่ต่าง ๆ แล้ว ชาวไทลื้อก็มีการปรับตัวเข้ากับท้องถิ่นได้อย่างกลมกลืน  โดยเฉพาะในส่วนบ้านเรือนที่อยู่อาศัย แต่เดิมนิยมสร้างเป็นเรือนไม้ยกพื้นสูง หลังคาขนาดใหญ่ลาดเอียงคลุมลงมาจนถึงฝาเรือน  ภายในเรือนเป็นโถงกว้างและไม่นิยมทำหน้าต่างมากนักเพราะเป็นพื้นที่ที่มีอากาศหนาวเย็น  เมื่อชาวไทลื้อย้ายถิ่นฐานเข้ามาจึงมีการสร้างเรือนแบบหลังคาสองจั่วตามแบบเรือนไทยวนและมีหน้าต่างเรือนมากขึ้น  เพื่อให้ถ่ายเทอากาศ

ชาวไทลื้อมักประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก ว่างเว้นจึงนิยมทอผ้าเพื่อไว้ใช้สอยและถวายเป็นพุทธบูชา  ถึงแม้ว่าถิ่นฐานของชาวไทลื้อจะกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป แต่การดำรงชีวิตของกลุ่มไทลื้อทุกแห่งจะมีความคล้ายคลึงกัน  เนื่องจากมีพื้นฐานทางวัฒนธรรมที่เหมือนกัน  ซึ่งเห็นได้ชัดเจนจากภาษา  การแต่งกาย อาหารประเพณี และความเชื่อความศรัทธาในพระพุทธศาสนา

หญิงสาวชาวไทลื้อมีฝีมือด้านการทอผ้าเป็นอย่างยิ่ง เพราะได้รับการฝึกฝนมาจากแม่และญาติพี่น้องฝ่ายหญิง การออกแบบสร้างสรรค์ผ้าทอไทลื้อถือได้ว่ามีความวิจิตรพิสดาร โดยสามารถทำเป็นลวดลายต่างๆ ได้ด้วยเทคนิคการจก การขิด และเกาะล้วง เช่น ลายนาค ลายหงส์ ลายปราสาท เป็นต้น ผ้าทอที่ทำขึ้นนั้นใช้สำหรับเป็นเครื่องนุ่งห่มของคนในครอบครัว รวมถึงเป็นเครื่องใช้จำพวกที่นอน หมอน ผ้าห่ม ฯลฯ ทั้งนี้หากต้องการทำบุญก็จะทอตุง หรือผ้าที่ใช้ในพุทธศาสนาถวายที่วัด สร้างกุศลให้ผู้หญิงแทนการบวชพระ

          การแต่งกายของสตรีชาวไทลื้อนิยมสวมเสื้อปั๊ดสีเข้ม เป็นเสื้อที่ไม่มีกระดุม แต่จะผูกเชือกที่สาบเสื้อด้านซ้าย นุ่งซิ่นต๋าลื้อ อาจมีเพิ่มลวดลายด้วยเทคนิคต่าง ๆ เพื่อความสวยงาม เกล้ามวยผมไว้บนกระหม่อมและเคียนหัวด้วยผ้าพื้นสีขาวหรือสีชมพู ส่วนบุรุษนิยมสวมเสื้อแขนยาว สวมทับด้วยเสื้อปาหรือเสื้อกั๊กปักลวดลายด้วยเลื่อม สวมกางเกงขายาวสีเดียวกับเสื้อ ต่อหัวกางเกงด้วยผ้าสีขาว เคียนหัวด้วยผ้าพื้นสีขาวหรือสีชมพู ทั้งชายและหญิงนิยมสะพายถุงย่าม หากไปวัดจะพาดบ่าด้วยผ้าเช็ดทุกครั้ง

 

ฐาปนีย์ เครือระยา

สำนักส่งเสริมศิลปวัมนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่