15 เมษายน 2563
3k
Share on
 

ปกาเกอะญอ

 

กะเหรี่ยง
          กะเหรี่ยง หรือ ปกาเกอะญอ คนล้านนามักเรียกว่า “ยาง” พม่าเรียกว่า “กะยิ่น” ชาวตะวันตก เรียกว่า “กะเรน” กลุ่มชาติพันธุ์นี้เรียกตนเองว่า “กะเหรี่ยง” ประกอบด้วยกะเหรี่ยงหลากหลายกลุ่ม กลุ่มใหญ่ ๆ คือ ปกาเกอะญอ (สกอว์) โพล่ง (โปว์) ตองสู้ (ปะโอ) และบะแก (บะเว) แต่เดิมกะเหรี่ยงตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณต้นแม่น้ำสาละวิน สหภาพพม่า ต่อมาได้อพยพเข้ามาตามแนวตะเข็บชายแดนไทย-พม่า สู่ภาคเหนือและภาคตะวันตกของประเทศไทย ใน 15 จังหวัด เช่น เชียงใหม่ ลำพูน แม่ฮ่องสอน ตาก และกาญจนบุรี  แม้กะเหรี่ยงจะได้ชื่อว่าเป็นชาวเขา แต่ก็มิได้อาศัยบนเขาสูงเสียทั้งหมด บางส่วนสร้างบ้านแปลงเรือนอาศัยอยู่บริเวณพื้นที่ราบ หรือพื้นที่ราบเชิงเขา เหมือนกลุ่มชาติพันธุ์ไทอื่นๆ เช่น ชาวกะเหรี่ยงในบ้านพระบาทห้วยต้ม อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน เป็นต้น ในส่วนของบ้านเรือนที่อยู่อาศัย ชาวกะเหรี่ยงนิยมสร้างเรือนไม้ยกพื้นสูง  มีชานเรือน  หลังคาหน้าจั่วยาวคลุมตัวบ้านมุงด้วยหญ้าคา ไม่มีหน้าต่าง และดำรงชีพด้วยเกษตรกรรมและหาของป่า
          กะเหรี่ยงมีภาษาเป็นของตนเอง คือ ภาษากะเหรี่ยง เป็นภาษาในตระกูลจีน-ทิเบต สาขาทิเบต-พม่า แบ่งเป็นภาษาย่อยได้ 8 ภาษา คือ สะกอ โป กะยา เฆโก มอบวา (บิลีจี , เดอมูฮา) ปาไลซิ ต้องสู้ และ เวเวา นอกจากนี้ยังมีสำเนียงอีกหลายแบบ ซึ่งแตกต่างกันไปตามพื้นที่ตั้งถิ่นฐาน แด่เดิมชาวกะเหรี่ยงนับถือผี โดยเฉพาะผีบรรพบุรุษ ผีอารักษ์ และผีต่าง ๆ ที่สถิตตามป่าเขา ลำน้ำ และบริเวณหมู่บ้าน ต่อมาเมื่อมีปฏิสัมพันธ์กับคนพื้นราบจึงหันมานับถือพระพุทธศาสนา และบางส่วนนับถือศาสนาคริสต์ตามที่มิชชั่นนารีได้เข้ามาเผยแพร่ศาสนจักร

          การแต่งกายของชาวกะเหรี่ยงแต่ละพื้นที่แต่ละกลุ่ม มีการแต่งกายที่ต่างกัน แต่มีจุดร่วมที่คล้าย ๆ กันคือ เด็กและหญิงสาวจะเป็นชุดคลุมยาว เป็นผ้าฝ้ายพื้นขาว ทอหรือปักประดับลวดลายให้งดงาม ส่วนสตรีที่แต่งงานแล้วจะสวมเสื้อสีดำ น้ำเงิน หรือสีเข้ม และผ้านุ่งสีแดงคนละท่อน ตกแต่งด้วยลูกเดือย หรือทอยกดอก ยกลาย ส่วนบุรุษนิยมสวมเสื้อตัวยาวถึงสะโพก ตัวเสื้อจะมีการตกแต่งด้วยแถบสีไม่มีการปักประดับเหมือนเสื้อสตรี นุ่งกางเกงสะดอ  นิยมใช้สร้อยลูกปัดเป็นเครื่องประดับ และสวมกำไลเงินหรือตุ้มหู


ฐาปนีย์ เครือระยา

สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่