24 มีนาคม 2563
3k
Share on
 

สะแล

 

สะแล
สะแล หรือ สาแล มีชื่อในท้องถิ่นอื่น เช่น แกแล (ปราจีนบุรี) ข่อยย่าน (สงขลา) คันซง ซงแดง (ปัตตานี) แทแล (ชลบุรี) ชะแล (กะเหรี่ยงกาญจนบุรี) เป็นต้น ชื่อทาง วิทยาศาสตร์คือ Broussonetia kurzil Corner. ในวงศ์ MORACEAE
สะแลเป็นไม้รอเลื้อย ลําต้นสูง 5-10 เมตร ถ้าอยู่ เดี่ยวๆ จะเป็นพุ่ม ถ้าอยู่กับไม้อื่นจะเลื้อยพันเป็นเถา เป็นไม้เนื้ออ่อนที่มีกิ่งก้านเหนียว เปลือกสีเทาเรียบไม่แตกเป็นสะเก็ด เป็นไม้ผลัดใบ ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงตัวแบบสลับ รูปใบแบบไข่หรือรี ปลายใบแหลม ฐานใบกว้างรูปหัวใจ ขอบใบหยักขนาดกว้าง 4-8 เซนติเมตร ยาว 6-14 เซนติเมตร ก้านใบยาว 1.0-1.5 เซนติเมตร ผิวใบสากเนื้อใบหนาและเหนียว เส้นแขนงใบแบบขนนกมีจํานวน 7-8 คู่ ดอกเป็น พืชที่มีดอกเพศผู้และเพศเมียอยู่คนละต้น ออกบริเวณกิ่ง ดอกเพศผู้เป็นช่อรูปร่างยาว มีดอกย่อยอัดกันแน่นอยู่ ไม่มีกลีบดอก ช่อดอกเพศเมียจะมีรูปร่างค่อนข้างกลม มีดอกย่อยอัดกันแน่น มีก้านเกสรเพศเมีย (Style) ชี้ยาวออกมายาว 1.0 -1.5 เซนติเมตร มีขนปกคลุม บริเวณดอกจะมียางสีขาว เวลาออกดอกใบจะร่วงหมด ออกดอกเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ ผลจะเป็นผลรวม (Syncarp) จะมีลักษณะอ่อนนุ่ม เมล็ดมี รูปร่างกลมหรือกลมรีมีสีดํา ออกผลเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม มักพบสะแลขึ้นตามสวนและที่ใกล้แหล่งน้ำ
ส่วนที่ใช้เป็นอาหาร คือ ผลอ่อน นิยมนำชนิดผลกลมมาเป็นผักแกงเรียก แกงสะแล แกงใส่ปลาย่าง กระดูกหมูมีรสซ่าและขมเล็กน้อย ประโยชน์อื่นๆ เช่น เปลือกและใบนำมาต้มอาบแก้บวม เนื่องจากโรคไตหรือโรคหัวใจพิการและน้ำเหลืองเสีย เหน็บชา เป็นต้น
(ข้อมูล สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ เล่ม ๑๓ )